การมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่หน่วยบริการปฐมภูมิในกระบวนการพัฒนา ระบบงานบริการส่งมอบยาและให้คำแนะนำการใช้ยา

Main Article Content

ดรุวรรณ คลังศรี
รัตนาภรณ์ อาวิพันธ์
พักตร์วิภา สุวรรณพรหม

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษากระบวนการที่ใช้ในการพัฒนาระบบงานบริการส่งมอบยาและให้คำแนะนำการใช้ยา โดยการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่หน่วยบริการปฐมภูมิ และเพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนา วิธีการวิจัย: การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังเจ้า อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย 1) ทีมวิจัยหลัก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยบริการปฐมภูมิ จำนวน 5 คน 2) ทีมผู้สนับสนุน ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลแม่ข่าย เจ้าพนักงานเภสัชกรรม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน และหัวหน้าหน่วยบริการปฐมภูมิ 3) ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 136 คน ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลจากการสังเกต การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ การสนทนากลุ่ม และการประชุมระดมสมอง ผลการวิจัย: กระบวนการพัฒนาระบบงานบริการส่งมอบยาและให้คำแนะนำการใช้ยาในบริบทของหน่วยบริการปฐมภูมิ มีขั้นตอนที่สำคัญ คือ 1) การศึกษาบริบทของพื้นที่และเจ้าหน้าที่หน่วยบริการปฐมภูมิเป้าหมาย 2) การสร้างทีมวิจัยหลัก 3) การวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และกำหนดกิจกรรมในการแก้ปัญหา 4) การวางแผนการปฏิบัติงานส่งมอบยาและให้คำแนะนำการใช้ยา 5) การดำเนินงานบริการตามแผนที่วางไว้ 6) การวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน 7) การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาระบบงาน และ 8) การปรับระบบงานส่งมอบยาและให้คำแนะนำการใช้ยา  ทีมวิจัยหลักกำหนดแผนการทำงาน 2 แผนเพื่อพัฒนาระบบบริการส่งมอบยาและให้คำแนะนำการใช้ยา ได้แก่ 1) กิจกรรมการอบรมความรู้เพิ่มเติมในเรื่องยาให้กับทีมวิจัยหลัก และ 2) กิจกรรมการปรับปรุงระบบบริการผู้ป่วยเบาหวาน ผลการดำเนินงานตามกิจกรรมพบว่า ทีมวิจัยหลักเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนา มีผลให้ทีมวิจัยหลักสามารถลดปัญหาของระบบได้ และปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีปัญหาจากการใช้ยาลดลง สรุป: การใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม สามารถพัฒนากระบวนการทำงานและการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้ ปัจจัยภายในที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาระบบงานบริการส่งมอบและการให้คำแนะนำการใช้ยา ได้แก่ ประสบการณ์เดิมจากการทำงานของทีมวิจัย ความตระหนักถึงปัญหาของระบบ การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น การสามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และการมีภาวะผู้นำ ส่วนปัจจัยภายนอกที่มีผล ได้แก่ ความร่วมมือของทีมผู้สนับสนุนและผู้ป่วย รูปแบบการวิจัยที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และช่วงเวลาในการดำเนินกิจกรรมที่จำกัด

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. สำนักงานโครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข. บริการปฐมภูมิ : บริการสุขภาพใกล้ใจและใกล้บ้าน. นนทบุรี: สำนักงานโครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข; 2545.

2. คณะทำงานจัดทำคู่มือเภสัชกรรมปฐมภูมิ. คู่มือสำหรับเภสัชกรในการดำเนินงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ. กรุงเทพฯ: สำนักงานแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.); 2553.

3. ปริวัตร เขื่อนแก้ว. แนวทางการจัดการเรียนรู้และประเมินผล [ออนไลน์]. 2550 [สืบค้นวันที่ 1 สิงหาคม 2554]. เข้าถึงได้จาก: URL: http://www.wijai48.com/ learning_stye/learningstyle.htm

4. เบญจพร ศิลารักษ์, จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์, สุพล ลิมวัฒนานนท์, พรรณี บุญเกาะ. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริการคัดกรองเบาหวาน: ในบริบทของชุมชน. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล 2548; 18: 52-62.

5. สุภางค์ จันทวานิช. วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2545.

6. เพ็ญจันทร์ ประดับมุข, ลือชัย ศรีเงินยวง. สถานการณ์ชีวิตและพฤติกรรมการรักษาตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน. วารสารการวิจัยระบบสาธารณสุข 2535; 2: 272-80.

7. จำเริญ จิตรหลัง. เอกสารประกอบการสอนวิชาวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนางานสาธารณสุข [ออนไลน์]. 2549 [สืบค้นวันที่ 4 มกราคม 2554]. เข้าถึงได้จาก: URL: http://210.246.188.58/ trang1/news_file

8. เรขา อรัญวงศ์. การพัฒนาครูในด้านการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน. วารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่. 2548; 3: 98-109.

9. อาภาพันธ์ พันธุ. เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีผลต่อการคงอยู่ขององค์กรชุมชน [วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต]. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2543.

10. หทัยชนก บัวเจริญ. ระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ: กรณีศึกษาโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. คณะพยาบาลศาสตร์. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2544.

11. อังกูร ภาวสุทธิไพศิฐ, รัตนาภรณ์ อาวิพันธ์, กนกพร นิวัฒนนันท์, วรรณดี แต้โสติกุล. การบูรณาการแบบจำลองการอธิบายโรคสำหรับดูแลผู้ป่วยเบาหวานโดยเภสัชกรคลินิค. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล 2552; 2: 24-34.

12. อุดมลักษณ์ ดวงลกดก. กระบวนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในการอนุรักษ์ลำน้ำแม่สาร [วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต]. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่โจ้; 2553.

13. ทวีศักดิ์ นพเกษร. วิกฤตสังคมไทยกับบทบาทวิทยากรกระบวนการ. กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา; 2542.