ประสิทธิผลของกิจกรรมทบทวนความรู้แบบเป็นระบบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของผู้เรียนในรายวิชาเภสัชวิทยาเบื้องต้น
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินประสิทธิผลของกิจกรรมทบทวนความรู้แบบเป็นระบบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนในรายวิชาเภสัชวิทยาเบื้องต้น วิธีการ: การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของกิจกรรมทบทวนความรู้แบบเป็นระบบกับแบบดั้งเดิม การทบทวนความรู้แบบเป็นระบบในปีการศึกษา 2559 มีการจัดกิจกรรม 2 ครั้ง คือ ก่อนสอบเก็บคะแนนครั้งที่ 1 ในรูปแบบการทำสรุปเนื้อหาในรูปแบบอินโฟกราฟิก และก่อนสอบเก็บคะแนนครั้งที่ 2 ในรูปแบบเกมส์ตอบคำถาม ส่วนกิจกรรมทบทวนความรู้แบบดั้งเดิมในปีการศึกษา 2558 อยู่ในรูปแบบเกมส์ตอบคำถามก่อนการสอบเก็บคะแนนครั้งที่ 3 การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของกิจกรรมจากจำนวนนิสิตที่ไม่ผ่านการประเมินผล (เกรด F) และคะแนนสะสมตลอดภาคการศึกษาของรายวิชา ผลการวิจัย: ร้อยละของนิสิตที่ไม่ผ่านการประเมินผลหลังเข้าร่วมกิจกรรมทบทวนความรู้แบบเป็นระบบน้อยกว่านิสิตที่เข้าร่วมการทบทวนความรู้แบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 1.16 และ 10.29 ตามลำดับ, P<0.05) นิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมทบทวนความรู้แบบเป็นระบบมีค่าเฉลี่ยคะแนนสะสมสูงกว่านิสิตที่ได้รับการทบทวนความรู้แบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (66.1±10.54 และ 58.0±10.84 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ตามลำดับ, P<0.05) การวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกส์พหุตัวแปรโดยควบคุมอิทธิพลของตัวแปรกวน ได้แก่ คณะที่นิสิตสังกัดและเกรดเฉลี่ยสะสมของนิสิตก่อนการลงทะเบียนเรียน พบว่า นิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมทบทวนความรู้แบบเป็นระบบมีโอกาสไม่ผ่านการประเมินผล (odds ratio) เป็น 0.09 เท่าของกลุ่มเปรียบเทียบ (95% CI 0.01–0.58) และมีค่าเฉลี่ยคะแนนสะสมมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ 5.0 คะแนน (95% CI 3.64-6.42) สรุป: กิจกรรมทบทวนความรู้แบบเป็นระบบส่งผลให้นิสิตมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นโดยมีร้อยละของนิสิตที่ไม่ผ่านการประเมินผลลดลงและมีคะแนนสะสมเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดการรายวิชาที่มีลักษณะใกล้เคียงกับรายวิชาเภสัชวิทยาเบื้องต้นควรพิจารณาการจัดกิจกรรมทบทวนความรู้แบบเป็นระบบเพื่อส่งเสริมให้นิสิตมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น
Article Details
ผลการวิจัยและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความถือเป็นความคิดเห็นและอยู่ในความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ มิใช่ความเห็นหรือความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ หรือคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากการพิมพ์ บทความที่ได้รับการเผยแพร่โดยวารสารเภสัชกรรมไทยถือเป็นสิทธิ์ของวารสารฯ
References
2. Vanichvasin P. Potentials of using infographics in enhancing the quality of learning. Panyapiwat Journal 2015; 7: 227-40.
3. Samutwanit C. Play to learn. Bangkok: P-Petch Printing; 1999.
4. Suksiri S. The study of effectiveness of game based learning approach. [Dissertation]: Bankok: National Institute of Development Administration; 2007.
5. Ritcharoon P. Assessment for learning development Journal of Education Sukhothai Thammathirat 2016 ; 9: 1-17.