ผลของโปรแกรมการให้คำปรึกษากลุ่มแบบบูรณาการ เพื่อเสริมสร้างความหวังและความเข้มแข็งทางใจต่อเยาวชนในสถานพินิจ
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการให้คำปรึกษากลุ่มแบบบูรณาการเพื่อเสริมสร้างความหวังและความเข้มแข็งทางใจต่อเยาวชนในสถานพินิจ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นเยาวชนในสถานพินิจ จำนวน 59 คน โดยคัดเลือกจากเยาวชนในสถานพินิจที่มีผลหลังจากการทำแบบวัดความหวังและแบบวัดความเข้มแข็งทางใจอยู่ในระดับต่ำตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 50 ลงมา จำนวน 14 คน มีความสมัครใจเข้าร่วมกลุ่มทดลอง และสามารถเข้ารับการทดลองได้ แล้วใช้การสุ่มอย่างง่าย เป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 7 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ 1) มาตรวัดความหวัง 2) แบบวัดความเข้มแข็งทางใจ และโปรแกรมการให้คำปรึกษากลุ่มแบบบูรณาการ สถิติที่นำมาวิเคราะห์ทดสอบเป็นแบบไม่อิงพารามิเตอร์ (Non-parametric Statistic)
การวิจัยพบว่า คะแนนความหวังในช่วงก่อนการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม มีคะแนนเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ 10.77 (SD=2.00) และ 11.52 (SD=1.88) และคะแนนเฉลี่ยความหวังหลังการทดลองของกลุ่มทดลอง มีคะแนนสูงขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.53 (SD=4.28) และค่าเฉลี่ยของกลุ่มควบคุมเท่ากับ 11.49 (SD=2.72) เมื่อพิจารณาคะแนนความเข้มแข็งทางใจในช่วงก่อนการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีคะแนนเฉลี่ยคือ 9.55 (SD=1.74) และ 10.02 (SD=1.99) ตามลำดับ จากนั้นเมื่อวัดอีกครั้งในช่วงหลังการทดลอง พบว่าคะแนนเฉลี่ยความเข้มแข็งทางใจหลังการทดลองของกลุ่มทดลองมีคะแนนเพิ่มขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 11.31 (SD=1.75) จากผลการเปรียบเทียบคะแนนความหวังภายหลังการทดลอง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนความหวังของกลุ่มทดลองและค่าเฉลี่ยคะแนนความหวังของกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน (p>0.05) และผลการเปรียบเทียบคะแนนความความเข้มแข็งทางใจภายหลังการทดลอง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนความเข้มแข็งทางใจของกลุ่มทดลองและค่าเฉลี่ยคะแนนความเข้มแข็งทางใจของกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน (p>0.05)