ปัจจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความเข้มข้นของเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอเมือง จังหวัดเลย
บทคัดย่อ
จุลินทรีย์ในอากาศภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอาจเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยของเด็กเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract infection; RTI) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้ (Aspergillosis) และโรคปอดบวม (Pneumonia) การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความเข้มข้นของจุลินทรีย์ในอากาศภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอเมือง จังหวัดเลย โดยทำการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) 5 ศูนย์ ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง ทำการเก็บข้อมูล โดยใช้เครื่อง Bio-Stage Impactor ในการเก็บตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศ และแบบสำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเลยมาตรฐาน สมการถดถอยเชิงเส้นอย่างง่าย (Simple linear regression) สมการถดถอยเชิงเส้นแบบพหุ (Multiple linear regression) ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย 95% CI และ P-value
ผลการศึกษาพบว่าความเข้มข้นเฉลี่ยของเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศภายใน (I) และภายนอกห้อง (O) เท่ากับ 17.44±16.01 cfu/m3 และ 48.43±24.74 cfu/m3 ตามลำดับ สัดส่วนความเข้มข้นของเชื้อจุลินทรีย์ภายในห้องต่อภายนอกห้อง ( I/O) เท่ากับ 0.37 สำหรับปัจจัยด้านการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความเข้มข้นของเชื้อจุลินทรีย์ในห้อง คือ การควบคุมอุณหภูมิภายในห้องระหว่าง 24-26 ๐C ทำให้ความเข้มข้นของจุลินทรีย์ในอากาศเฉลี่ยภายในห้องลดลงถึง 11.08 cfu/m3 (95% CI: 6.63 to 15.53, P-value < 0.001) เช่นเดียวกับห้องมีพัดลมดูดอากาศทำงานเป็นปกติ ทำให้พบความเข้มข้นของจุลินทรีย์ในอากาศเฉลี่ยภายในห้องลดลงถึง 24.79 cfu/m3 (95% CI: 13.84 to35.75, P-value < 0.001) ส่วนห้องที่ไม่พบฝุ่นตามพื้นผิวภายในห้อง เช่น พื้น ผนัง โต๊ะ เก้าอี้ และบริเวณอื่นๆ ส่งผลให้ความเข้มข้นของเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศเฉลี่ยลดลงถึง 14.57 cfu/m3 (95% CI: 8.75 to 20.39, P-value < 0.001) นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงตารางการบำรุงรักษาต่าง ๆ ภายในห้องสามารถลดความเข้มข้นของจุลินทรีย์ในอากาศเฉลี่ยภายในห้องถึง 28.38 cfu/m3 (95% CI: 17.89 to 38.87, P-value < 0.001) และการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศสม่ำเสมอ ทำให้ความเข้มข้นของจุลินทรีย์ในอากาศเฉลี่ยภายในห้องลดลง 7.83 cfu/m3 (95% CI: 2.02 to 13.65, P-value = 0.008)
การศึกษาครั้งนี้เน้นถึงความสำคัญของปัจจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในการควบคุมความเข้มข้นของเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้วยมาตรการด้านต่าง ๆ เช่น การรักษาอุณหภูมิภายในห้อง การทำงานของพัดลมดูดอากาศให้ปกติ การลดฝุ่นละออง การปฏิบัติงานตามตารางบำรุงรักษา และการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็จะสามารถลดจุลินทรีย์ในอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็กได้
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2024 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.