ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความหลากหลายของอาหารที่บริโภคของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ผู้แต่ง

  • กัญญารัตน์ สร้อยมาลัย ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี

บทคัดย่อ

ความหลากหลายทางอาหารที่บริโภคของเด็กสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ความเพียงพอของสารอาหารที่เด็กได้รับ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความหลากหลายของอาหารที่บริโภค และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความหลากหลายของอาหารที่บริโภค ของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง ในเด็กกลุ่มตัวอย่างอายุ 2-5 ปีจำนวน 300 คน ประเมินความหลากหลายของอาหารที่บริโภคของเด็ก โดยการสัมภาษณ์ผู้ดูแลเด็กเกี่ยวกับการบริโภคอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมงของเด็ก แล้วนำมาคำนวณจำนวนกลุ่มอาหารที่บริโภคโดยแบ่งกลุ่มอาหารเป็น 9 กลุ่ม เก็บข้อมูลลักษณะบุคคลของเด็กและผู้เลี้ยงดูเด็ก ความรู้ของผู้เลี้ยงดูเด็กด้านการบริโภคอาหารของเด็ก พฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กด้านอาหาร โดยใช้แบบสัมภาษณ์ผู้ดูแลเด็ก  วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ กับความหลากหลายของอาหารที่บริโภคของเด็ก โดยใช้สถิติถดถอยพหุโลจิสติก ผลการศึกษาพบว่า เด็กกลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 44.07±8.55 เดือน มีความหลากหลายของอาหารที่บริโภค (>5 กลุ่มอาหารจากทั้งหมด 9 กลุ่ม) ร้อยละ 49.00 จำนวนกลุ่มอาหารที่บริโภคเฉลี่ย 5.62±0.84 เด็กที่บริโภคอาหารกลุ่มผักใบเขียวเข้ม และกลุ่มผักผลไม้อื่น ๆ ที่มีวิตามินเอสูง มีเพียง
ร้อยละ 11.0 และ 35.3 สำหรับกลุ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงมีเด็กที่บริโภคร้อยละ 18.3 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความหลากหลายของอาหารที่บริโภคของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของครอบครัวมากกว่า 200 บาทต่อวัน (ORagj: 3.62, 95% CI: 1.39-9.43, p =0.008), ผู้เลี้ยงดูมีอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว (เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน/เกษตรกร/รับจ้างทั่วไป) (ORagj: 2.31, 95% CI: 1.24-4.30, p = 0.008), กลุ่มเด็กที่พ่อแม่เป็นผู้เลี้ยงดู (ORagj: 1.78, 95% CI: 1.07-2.96, p = 0.024) ครัวเรือนที่การปรุงประกอบเองในอาหารมื้อเย็น ORagj: 1.74, 95% CI: 1.01-3.00, p = 0.046) สรุป เด็กอายุ 2-5 ปี เพียงครึ่งหนึ่งที่บริโภคอาหารที่มีความหลากหลาย และขาดการบริโภคอาหารกลุ่มที่มีวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณมาก ควรส่งเสริมผู้ปกครองหรือผู้ดูแลทั้งที่บ้านและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในการจัดอาหารที่หลากหลายให้เด็กโดยเฉพาะอาหารที่อุดมด้วยสารอาหาร ครอบครัวที่มีปู่ย่าตายายเป็นผู้ดูแล หรือพ่อแม่เด็กที่เป็นเกษตรกรควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ นอกจากนี้ควรส่งเสริมการทำอาหารที่บ้านเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กได้รับอาหารที่หลากหลายและเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-03-21