สุนทรียทักษะภาวะผู้นำที่มีผลต่อการปฏิบัติงานตามสมรรถนะการมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • สุระศักดิ์ เจริญคุณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอภูเวียง
  • ชนะพล ศรีฤาชา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

สุนทรียทักษะภาวะผู้นำ, สมรรถนะการมุ่งผลสัมฤทธิ์, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสุนทรียทักษะภาวะผู้นำที่มีผลต่อการปฏิบัติงานตามสมรรถนะการมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดขอนแก่น ประชากรที่ศึกษาคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดขอนแก่น จำนวน 248 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 195 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย และการสนทนากลุ่ม จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถามและแนวทางการสนทนากลุ่ม ซึ่งแบบสอบถามผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา ได้ค่าดัชนีความสอดคล้อง (Item Objective Congruence: IOC) ทุกข้อคำถามมีค่ามากกว่า 0.50 และหาความเที่ยงโดยการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาช(Cronbach’s Alpha Coefficient) ได้ค่าเท่ากับ 0.97 เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1-31 พฤษภาคม 2562 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด และใช้สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน โดยกำหนดนัยสำคัญที่ระดับ 0.05

ผลการศึกษา พบว่าภาพรวมสุนทรียทักษะภาวะผู้นำอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.16 (S.D.= 0.40) และภาพรวมสมรรถนะการมุ่งผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.26 (S.D.=0.41) สุนทรียทักษะภาวะผู้นำมีความสัมพันธ์ระดับสูงกับการปฏิบัติงานตามสมรรถนะการมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=0.755, p-value< 0.001) นอกจากนี้ยังพบว่า ทักษะการวางแผนและจัดองค์กร ทักษะการสื่อสาร และทักษะความเชี่ยวชาญแห่งตน มีผลและสามารถร่วมกันพยากรณ์การปฏิบัติงานตามสมรรถนะการมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้ร้อยละ 61.3 (R2=0.613, p-value<0.001) ปัญหาอุปสรรคที่พบส่วนใหญ่คือ จำนวนบุคลากรไม่สมดุลกับภาระงานที่มากเกินไป มีความแตกต่างทางด้านความมุ่งมั่น ความรู้ ทัศนคติและประสบการณ์ ขาดโอกาสในการอบรมและพัฒนาสุนทรียทักษะภาวะผู้นำ

 

References

กรรณิการ์ เบ็ญจวนิช, & ชัญญา อภิปาลกุล. (2560). สุนทรียทักษะผู้นำที่มีผลต่อบทบาทในการควบคุมกำกับ การดำเนินงานตามโครงการของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดกาฬสินธุ์. วารสารการพัฒนาสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัย ขอนแก่น, 5(4), 569-588.

กฤษณะ อุ่นทะโคตร, & ประจักร บัวผัน. (2562). ปัจจัยแห่งความสำเร็จและสุนทรียทักษะผู้นำที่มีผลต่อการประเมินโครงการของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดกาฬสินธุ์. วารสารวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 12(2), 1-10.

คเณศวร โคตรทา, & ชนะพล ศรีฤาชา. (2560). สุนทรียทักษะภาวะผู้นำที่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานตามสมรรถนะการมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอในเขตสุขภาพที่ 8. วารสารเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้, 4(ฉบับพิเศษ), 273-291.

วรรณกร ตาบ้านดู่, & ชนะพล ศรีฤาชา. (2560). สุนทรียทักษะผู้นำที่มีอิทธิพลต่อการจัดการความขัดแย้งของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในจังหวัดขอนแก่น. วารสารวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพ, 10(1), 245-253.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. (2553). คู่มือการกำหนดสมรรถนะในราชการพลเรือน: คู่มือสมรรถนะหลัก. กรุงเทพฯ: ประชุมช่าง.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น. (2561). คู่มือการนิเทศติดตามประเมินผล CUP ปี 2562. ขอนแก่น: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น. (เอกสารอัดสำเนา).

สำเริง จันทรสุววรณ, & สุวรรณ บัวทวน. (2547). ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์. ขอนแก่น: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Cohen, J. (1988). Statistical power analysis for behavior science (2nd ed.). New York: Lawrence Erlbaum Associates.

Crosbie, R. (2005). Learning the soft skills of leadership. Industrial and Commercial Training, 37(1), 45-51.

Elifson, W. K. (1990). Fundamentals of social statistics (2nd ed.). New York: McGraw-Hill.

Likert, R. (1967). Attitude theory and measurement. New York: Wiley & Son.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-08-10