การรอดชีพของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ในจังหวัดขอนแก่น
คำสำคัญ:
มะเร็งรังไข่, อัตรารอดชีพ, ทะเบียนมะเร็งชุมชนบทคัดย่อ
มะเร็งรังไข่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขระดับโลก และมีอุบัติการณ์การเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น ในการศึกษาที่ผ่านมาจำนวนมากที่ได้ศึกษาถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับการรอดชีพในประเทศต่างๆ แต่จำนวนปีที่วินิจฉัยโรคประกอบกับมีการพัฒนากระบวนการตรวจวินิจฉัยรวมถึงการรักษาผู้ป่วยที่มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงอัตราการรอดชีพของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของนโยบาย โครงการ กระบวนการคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยต่อไป
การศึกษาครั้งนี้ใช้รูปแบบการศึกษาแบบ Retrospective cohort study เพื่อศึกษาการรอดชีพ และปัจจัยทางด้านพยาธิวิทยาต่อการรอดชีพของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ในจังหวัดขอนแก่น โดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ (รหัส ICD-O-3, C56) จากฐานข้อมูลทะเบียนมะเร็งระดับประชากร หน่วยทะเบียนมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2548 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 และติดตามไปจนทราบสถานะสุดท้ายของการมีชีวิตหรือจนสิ้นสุดการศึกษาเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 วิเคราะห์อัตราการรอดชีพสังเกต โดยวิธี Kaplan-Meier เปรียบเทียบระยะเวลาของการรอดชีพ โดยสถิติ Log-rank test และวิเคราะห์พหุปัจจัยโดยใช้สมการถดถอยค๊อกซ์ (Cox regression model) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ทั้งหมดจำนวน 630 คน มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 52 ปี (SD±15.62) ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 50-59 ปี จำนวน 168 คน (ร้อยละ26.7)เมื่อพิจารณาลักษณะของโรคส่วนใหญ่ไม่ทราบระยะของมะเร็ง จำนวน 215 คน (ร้อยละ34.2) รองลงมา คือระยะที่ 1 จำนวน 151คน (ร้อยละ 23.9) ส่วนมากไม่ได้กำหนดระดับของเนื้องอก (Histological grading) จำนวน 494 คน (ร้อยละ78.5) และรองลงมาคือ poorly differentiated เมื่อสิ้นสุดการศึกษามีผู้เสียชีวิต 258 คน คิดเป็นอัตราตาย 26.3 คน-ปี (95%CI: 24.2 ถึง 28.4) อัตราการรอดชีพสังเกตโดยรวมหลังการวินิจฉัยที่ 1,3 และ 5 ปีเท่ากับร้อยละ 75.9 (95%CI: 72.34-79.02) ร้อยละ 47.1 (95%CI: 43.20-50.98) และร้อยละ 30.3 (95%CI: 26.67-33.93) ตามลำดับ ค่ามัธยฐานระยะเวลารอดชีพ เท่ากับ 2.76 ปี (95%CI : 2.43-3.09) เมื่อควบคุมผลกระทบจากตัวแปรที่อยู่ในสมการแล้วพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการรอดชีพผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ได้แก่ ผู้ป่วยกลุ่มอายุ 70-79 ปี (HRadj=2.07, 95% CI: 1.32-3.32, ระยะของโรค IV (HRadj=2.03, 95% CI: 1.57-2.64ระยะของโรค III (HRadj=1.98, 95% CI: 1.53-2.58) และผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด (HRadj=1.52, 95%CI: 1.16-2.02 ) การศึกษานี้พบว่าอายุของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ณ วันวินิจฉัยที่สูงขึ้นทุกๆ 10 ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเป็น 1.21 เท่า (95% CI: 1.14-1.29) และระยะของโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้น มีโอกาสเสียงต่อการเสียชีวิตเป็น 1.36 เท่า (95%CI: 1.26-1.47) ซึ่งผลจากการศึกษานี้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มแรกและพัฒนาการรักษามะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต