ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จังหวัดอุบลราชธานี

ผู้แต่ง

  • ผดุงศักดิ์ ศรีวาส คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • เลิศชัย เจริญธัญรักษ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบย้อนหลัง (case-control study) เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1จังหวัดอุบลราชธานี ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 166 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มศึกษา 83 คน และกลุ่มควบคุม 83 คน ที่ได้รับการสุ่มประเมินโดยกรมสุขภาพจิต ปี 2559 เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์จากผู้ปกครองของเด็กกลุ่มตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2561 โดยแยกปัจจัยที่ศึกษาออกเป็น 3 ประเด็ก ได้แก่ 1)ลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง 2) ปัจจัยด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อม 3) ปัจจัยด้านตัวเด็กวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเชิงพรรณนา และหาความสัมพันธ์ด้วยสถิติถดถอยพหุคูณลอจิสติก นำเสนอขนาดความสัมพันธ์ด้วยค่า Adjusted odds ratio (ORadj) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95

ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ด้านรายได้เฉลี่ยของครอบครัว ลักษณะการเลี้ยงดู/ผู้ดูแลหลัก และด้านโรคประจำตัวของมารดา มีความ สัมพันธ์กับระดับสติปัญญาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ORadj=2.14; 95% CI=1.05-4.39, ORadj=2.13; 95% CI=0.23-0.94 และ ORadj=9.88; 95% CI=1.24-78.34) ตามลำดับ ปัจจัยด้านตัวเด็ก เกี่ยวกับลำดับการเกิดของเด็ก มีความสัมพันธ์กับระดับสติปัญญาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ORadj=3.31; 95% CI=1.46-7.53)

ข้อเสนอจากผลการศึกษาดังนี้ ควรมีการบูรณาการทำงานกับคณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อลดรายจ่ายในการเลี้ยงดูลูก พัฒนาทักษะการประเมินพัฒนาการลูกให้กับพ่อแม่ และกระตุ้นให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง โดยมีอาสาสมัครประจำหมู่บ้านคอยติดตามอย่างใกล้ชิด และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่คัดกรองพัฒนาการ ติดตามและกระตุ้นพัฒนาการในเด็กที่เสี่ยงให้ครบทุกราย รวมทั้งตรวจคัดกรองแม่ทุกราย และให้คำแนะนำก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และ หลังคลอด โดยเฉพาะแม่ที่มีโรคประจำตัวได้รับการดูแล และคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-15