ความสอดคล้องของการประเมินความจำเป็นในการใส่ฟันเทียมระหว่างผู้สูงอายุกับทันตแพทย์

ผู้แต่ง

  • ปิ่นเพ็ชร ติชะรา กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
  • ศิริพร คำสะอาด มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ธันยาพร เสงี่ยมศักดิ์ กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
  • รัชฎา น้อยสมบัติ ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

ความสอดคล้อง ความจำเป็นในการใส่ฟันเทียม ผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

ระดับความสอดคล้องในการประเมินความจำเป็นของการใส่ฟันเทียมระหว่างผู้สูงอายุกับทันตแพทย์ช่วยให้การจัดบริการใส่ฟันเทียมเป็นไปตามความจำเป็นของผู้สูงอายุ การศึกษาเชิงพรรณนานี้ต้องการหาความสอดคล้องการประเมินความจำเป็นในการใส่ฟันเทียมระหว่างผู้สูงอายุกับทันตแพทย์ นอกจากนี้ต้องการหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความจำเป็นในการใส่ฟันเทียมของผู้สูงอายุ สุ่มตัวอย่างอย่างง่าย ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 230 คน ทำการสัมภาษณ์และตรวจสุขภาพช่องปาก จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาค่าความสอคล้องด้วยสัมประสิทธิ์แคปปา และหาปัจจัยที่สัมพันธ์กับความจำเป็นในการใส่ฟันเทียมของผู้สูงอายุด้วยการถดถอยโลจิสติกแบบพหุ พร้อมรายงานค่าอัตราส่วนของออดส์ (odds ratio; OR)

ผลการศึกษา พบ ค่าแคปปาสำหรับฟันบนเท่ากับ 0.19 (95% CI: 0.12, 0.27) ฟันล่างเท่ากับ 0.15 (95% CI: 0.07, 0.23) และฟันบนหรือฟันล่างเท่ากับ 0.12 (95% CI: 0.05, 0.19) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความจำเป็นในการใส่ฟันเทียมของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05) ได้แก่ ไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ OR=6.67 (95% CI: 3.13, 14.29) เพศชาย=2.22 (95% CI: 1.08, 4.76) การได้รับคำแนะนำจากทันตบุคลากร OR=2.13 (95% CI: 1.06, 4.35)

สรุปได้ว่า ระดับความสอดคล้องในการประเมินความจำเป็นของการใส่ฟันเทียมระหว่างผู้สูงอายุกับทันตแพทย์อยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยหลักที่มีความสัมพันธ์กับความจำเป็นในการใส่ฟันเทียมของผู้สูงอายุ คือ ความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-19