กระบวนการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของครอบครัวชนบท ในจังหวัดหนองบัวลำภู

ผู้แต่ง

  • สังคม ศุภรัตนกุล
  • ดุษฎี อายุวัฒน์
  • พีระศักดิ์ ศรีฤาชา

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของครอบครัว โดยอาศัยแนวคิดทุนทางสังคม
ของ Williams (1978), Coleman (1988), Bourdieu (1989), Putnam (1993), Port (1998) และ Woolcock (2001) เป็นการศึกษา
เชิงคุณภาพจากปรากฏการณ์ทางสังคม เก็บข้อมูลจากผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพในครอบครัวและในชุมชน รวมทั้งสิ้น 30 คน ระหว่าง
เดือนสิงหาคม 2551 ถึง กรกฎาคม 2552 โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มร่วมกับการสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลโดยการ
วิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของครอบครัวชนบทมีรูปแบบการสร้าง 3 แบบ แบบ
ที่ 1ได้แก่ การสร้างผ่านครอบครัวและเครือญาติ เช่น การขัดเกลาทางสังคม การถ่ายทอดความรู้ด้านสุขภาพที่สั่งสมมาจากรุ่นสู่รุ่น
การปลูกฝังความเชื่อในการดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหารและการกล่อมเกลาทางจิตใจ ถือได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างความ
มั่นคงด้านสุขภาพของครอบครัวชนบทในมิติสุขภาพกายเพราะการทานอาหารเพื่อสุขภาพทำให้อายุยืนและมิติสุขภาพทางจิตใจ
เพราะคนในครอบครัวเป็นที่พึ่งทางจิตใจ แบบที่ 2 ได้แก่ การสร้างผ่านกลุ่มเพื่อนบ้านในชุมชน ทั้งที่เป็นการรวมกลุ่มแบบทางการ
ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชนต้านภัยยาเสพติด กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มฌาปนกิจชุมชนและกลุ่มผู้สูงอายุ แบบไม่เป็น
ทางการได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมและกลุ่มพิธีกรรม ถือได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของครอบครัวในมิติ
สุขภาพทางสังคม เนื่องจากก่อให้เกิดความปรองดองในสังคมและสุขภาพทางปัญญาจากการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทาง
สุขภาพและแบบที่ 3 ได้แก่การสร้างผ่านโครงข่ายสถาบันนอกชุมชนโดยอาศัยความเชื่อมโยงได้แก่ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี การ
เข้าค่ายเยาวชน การจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล การบริการของสถานีอนามัย บริการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพตำบล
และการเข้าถึงบริการสุขภาพ ถือได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของครอบครัวชนบท ในมิติสุขภาพทางกาย
เพราะว่าหน่วยงานดังกล่าวสามารถช่วยให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดสุขภาพทางจิตใจโดยได้
เพิ่มช่องทางสำหรับครอบครัวยากจน ไม่ต้องกังวลใจกับค่าพาหนะเดินทางเมื่อต้องการไปพบแพทย์ ส่วนสุขภาพทางสังคมนั้นได้เกิด
ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพราะบุคคลในสังคมสามารถช่วยเหลือกันได้และก่อให้เกิดสุขภาพทางปัญญาเพราะครอบครัวเกิดการเรียนรู้
จากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาแล้วนำไปใช้ประโยชน์ จึงสรุปได้ว่า ครอบครัวในชนบทจังหวัดหนองบัวลำภูเกิดความมั่นคงด้าน
สุขภาพเพราะว่าสุขภาพถูกสร้างผ่านทุนทางสังคมที่ Ostrom (2000) กล่าวว่า ทุนทางสังคมยิ่งใช้มาก ยิ่งเพิ่มค่าและไม่มีหมดสิ้น
นั้นเอง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-07-07