การศึกษาพัฒนาการของนโยบายและผลลัพธ์ของการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในระบบสุขภาพ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ในปี 2554–2556
คำสำคัญ:
ระบบสุขภาพอำเภอ, ผู้ป่วยเบาหวาน, ผลลัพธ์บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยเบาหวานอำเภอพาน จังหวัด
เชียงราย ในปี 2554–2556 เป็นการศึกษาย้อนหลัง โดยศึกษาจากเอกสารการวิจัย และรายงานการดำเนินงานต่างๆที่
เกี่ยวข้อง และข้อมูลของผู้ป่วยเบาหวานที่จัดเก็บในระบบอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 147 รายที่โอนจากโรงพยาบาลพาน
ไปรับการรักษาต่อเนื่องที่ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลม่วงคำ รวมทั้งการสัมภาษณ์ระดับลึกกับแพทย์ พยาบาลและ
เจ้าหน้าที่ ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลม่วงคำ ที่เกี่ยวข้องจำนวน 10 ราย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ประกอบด้วย สถิติเชิง
พรรณนา และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสถิติ Chi-square test ระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน อำเภอพาน จังหวัด
เชียงรายส่วนใหญ่ผู้ป่วยเบาหวาน มารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลพานเป็นหลัก จำนวนผู้ป่วยเบาหวานมีจำนวน
เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ปี 2556 ผู้ป่วยเบาหวานมีจำนวน 5,361 ราย เพิ่มจากปี 2554 จำนวน 918 ราย จากจำนวนผู้ป่วยที่
เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ให้บริการเท่าเดิม ทำให้เกิดความแออัดในการมารับบริการในโรงพยาบาล ส่งผลให้คุณภาพการ
ดูแลผู้ป่วย ขาดคุณภาพ การประเมินผู้ป่วยไม่ครอบคลุม การจัดการปัญหาด้านสุขภาพ และการให้ข้อมูลผู้ป่วยไม่
ครบถ้วน การบริการมีความเร่งรีบ ปัญหาดังกล่าวนอกจากส่งผลต่อคุณภาพโดยตรงแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง
ไม่มาตรวจรักษาตามนัด เนื่องจากมีความลำบากในการมารับยาต่อเนื่อง เป็นผลให้ผู้ป่วยผู้ป่วยเบาหวาน มีภาวะ
น้ำตาลในเลือดสูงเกิน ต้องมารับการรักษาด้วยอาการแผลที่เท้าเรื้อรัง การมองเห็นผิดปกติ รวมทั้งโรคหลอดเลือดสมอง
และหัวใจ เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอพาน (District Health system : DHS) จึงจัดระบบส่งต่อและการดูแล
ประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ ก่อนป่วย ขณะป่วย และการป้องกันภาวะแทรกซ้อน และการดูแลหลังพบ
ภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น โดยใช้กรอบการบริหารจัดการโรคในภาพรวมแบบเชิงรุก (pro-active, population-based
approach) ระบุหรือค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อรังตั้งแต่เริ่มแรกของวงจรการเกิดโรค (ซึ่งยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน) เพื่อป้องกัน
หรือชะลอมิให้โรคพัฒนาไปและลดภาวะแทรกซ้อนที่มีแนวโน้มเกิดขึ้น ผลการศึกษาชี้ว่า ปี 2556 เครือข่ายบริการ
สุขภาพอำเภอพานทำให้ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการส่งต่อให้ไปรับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลม่วงคำ ใช้เวลาใน
การไปรับบริการน้อยลง และได้รับบริการตรวจเลือดและสุขภาพอื่นๆมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2554 อย่างไรก็ตามการ
พัฒนาบริการและระบบข้อมูลที่จำเป็นด้านการส่งเสริม ป้องกัน และดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานร่วมกันให้สมบูรณ์
ครบถ้วน ถูกต้องและเชื่อมโยงระหว่างศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลม่วงคำและโรงพยาบาลพาน และการให้ชุมชน (อบต.
อสม. และเจ้าหน้าที่ รพสต) เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบบริการร่วมกันเพื่อระบุหรือค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อรังตั้งแต่
เริ่มแรกของวงจรการเกิดโรคและลดภาวะแทรกซ้อนที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง