ความชุกของภาวะสมองเสื่อมและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อมใน ผู้สูงอายุอําเภอน้ําพอง จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • วิลาสินี สุราวรรณ์

คำสำคัญ:

ความชุก, ภาวะสมองเสื่อม, ผู้สูงอาย

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional analytical study) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกภาวะสมองเสื่อมและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ อําเภอน้ําพอง จังหวัดขอนแก่น เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์และแบบทดสอบสภาพสมองเบื้องต้นฉบับภาษาไทย (MMSE-Thai 2002) วิเคราะห์หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อมด้วยสถิติการถดถอยพหุโลจิสติกนําเสนอผลการวิเคราะห์ด้วย Adjusted oddsratio (ORadj) และช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 (95% CI) ผลการศึกษาผู้สูงอายุจํานวน 370 คน อัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิง 1: 2 คน อายุระหว่าง 60-95 ปี (อายุเฉลี่ย 74.7 ปี ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 9.0) พบความชุกของภาวะสมองเสื่อม ร้อยละ 10.8 (95% CI=7.13-13.51) ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 72.5 มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ร้อยละ 30 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ ที่ระดับนัยสําคัญ 0.05 ได้แก่ ระดับการศึกษา (ORadj=0.22, 95% CI=0.06–0.85) ความสามารถอ่านออกเขียนได้ (ORadj=19.99, 95% CI=6.43–62.07) โรคความดันโลหิตสูง (ORadj=11.58, 95% CI=3.28-40.89)การใช้ยากลุ่มลดความดันโลหิต (ORadj=0.19, 95% CI=0.05-0.71) การรับประทานอาหาร 5 หมู่ครบใน 1 วัน (ORadj=14.89, 95% CI=2.64-83.95) และการออกกําลังกาย(ORadj=3.03, 95% CI=1.23–7.47) สรุปและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นการป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้านโภชนาการการออกกําลังกายที่เหมาะสมเพื่อป้องกันและควบคุมโรคเรื้อรัง ส่งเสริมการประกอบอาชีพและทํากิจกรรมกลุ่มรวมถึงการคัดกรองภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-04-11