ความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพกับความร่วมมือในการใช้ยา และพฤติกรรมสุขภาพเพื่อชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3-4

Main Article Content

ธีรทัศน์ พรหมอยู่
ชุลีกร สอนสุวิทย์
เพ็ญกาญจน์ กาญจนรัตน์

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพกับความร่วมมือในการใช้ยาและพฤติกรรมสุขภาพเพื่อชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3-4  วิธีการ: การศึกษาแบบภาคตัดขวางเชิงวิเคราะห์นี้ทำในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3-4 จำนวน 166 คนที่เป็นผู้ป่วยนอกของคลินิกชะลอไตเสื่อม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรุงเทพมหานครระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2564 การเก็บข้อมูลใช้แบบสอบถามประกอบด้วยแบบวัดความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3-4 แบบวัดความร่วมมือในการใช้ยาสำหรับชาวไทย (Medication Adherence  Scale for Thais) และแบบวัดพฤติกรรมสุขภาพเพื่อชะลอไตเสื่อมที่พัฒนาจากการทบทวนวรรณกรรม ผู้ป่วยกรอกแบบวัดด้วยตนเองหรือผู้วิจัยอ่านแบบวัดให้ผู้ป่วยฟัง ผลการวิจัย: ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการวิจัย อายุเฉลี่ย 65.72 ± 9.85 ปี มีคะแนนความรอบรู้ด้านสุขภาพเฉลี่ย 83.17 ± 10.70 คะแนน (เต็ม 108 คะแนน) ผู้ป่วย 141 คน (ร้อยละ 84.9) มีความร่วมมือในการใช้ยาระดับเพียงพอ (คะแนน ≥ 34 คะแนน) และคะแนนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อชะลอไตเสื่อมเฉลี่ย 26.14 ± 3.95 คะแนน (เต็ม 33 คะแนน) การวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพกับความร่วมมือในการใช้ยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อควบคุมระดับการศึกษา รายได้ต่อเดือน ระยะเวลาการทราบว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง และการรับรู้ความสามารถของตนเองเพื่อชะลอไตเสื่อม (adjusted OR 1.05, P = 0.042) และพบความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพกับพฤติกรรมเพื่อชะลอไตเสื่อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (beta coefficient = 0.143, P < 0.001) สรุป: ความรอบรู้ด้านสุขภาพมีความสัมพันธ์กับความร่วมมือในการใช้ยาและพฤติกรรมสุขภาพเพื่อชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3-4

Article Details

บท
บทความวิจัย