ศิลปกรรมบำบัดแบบกลุ่มต่อผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า
คำสำคัญ:
โปรแกรมศิลปกรรมบำบัดแบบกลุ่ม, ภาวะซึมเศร้า, ความมีคุณค่าในตนเอง, ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าบทคัดย่อ
ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้ามักจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งอาจพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมศิลปกรรมบำบัดแบบกลุ่มต่อภาวะซึมเศร้าและ
ความมีคุณค่าในตนเองของผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าผู้วิจัยพัฒนาโดยใช้กรอบแนวคิด BOVORNKITI Art Therapy
Model และ แนวคิดความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของ Rosenberg (1965) ประชากรที่ใช้ศึกษาคือผู้สูงอายุระหว่าง
60-79 ปี มีภาวะซึมเศร้าระดับเล็กน้อยถึงระดับปานกลางจำนวน 24 คน สุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
กลุ่มละ 12 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมศิลปกรรมบำบัดแบบกลุ่มฯ จำนวน 8 ครั้ง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆ ละ
90-120 นาที กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามมาตรฐาน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบวัดภาวะซึมเศร้า และแบบวัดความรู้สึก
มีคุณค่าในตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย เปรียบเทียบผลการศึกษา
ระหว่าง 2 กลุ่ม โดยสถิติ Two-way repeated measure ANOVA และเปรียบเทียบเชิงพหุนามแบบรายคู่ด้วยวิธี
Bonferroni
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยภาวะซึมเศร้า และความมีคุณค่าในตนเองในระยะหลังการทดลอง
เสร็จสิ้นทันที และระยะติดตามผล 1 เดือน แตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 กลุ่มทดลอง
มีคะแนนค่าเฉลี่ยภาวะซึมเศร้า และความมีคุณค่าในตนเอง ในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลองเสร็จสิ้นทันที
และติดตามผล 1 เดือน แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05สรุปคือ โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด
แบบกลุ่มฯ มีประสิทธิผลในการลดภาวะซึมเศร้าและเสริมสร้างความมีคุณค่าในผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า บุคลากร
สาธารณสุขสามารถนำโปรแกรมศิลปกรรมบำบัดแบบกลุ่มฯ นี้มาประยุกต์ใช้เพื่อลดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้