จริยธรรมการตีพิมพ์

Publication Ethics - จริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในพุทธชินราชเวชสาร

พุทธฃินราชเวชสารกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติและจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการ ดังนี้

หน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการ (Editors)

  1. ประเมินคุณค่าพร้อมพัฒนาปรับปรุงคุณภาพวารสารอย่างต่อเนื่อง
  2. จัดหา เลือกสรร กลั่นกรอง คัดเลือกบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารโดยพิจารณาให้เนื้อหาบทความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของวารสาร โดยคำนึงถึงความรู้ใหม่ คุณภาพ และการนำไปใช้ประโยชน์ โดยไม่มีอคติต่อบทความและผู้นิพนธ์ในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้นิพนธ์ รวมทั้งไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ
  3. ตรวจสอบความถูกต้องของบทความด้วยหลักเหตุและผล โดยไม่ให้มีประเด็นมิชอบ รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพของบทความก่อนรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความโดยผู้พิจารณาบทความและ/หรือที่ปรึกษาสถิติ ซึ่งต้องเป็นผลงานใหม่ที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน (ยกเว้นในรูปแบบบทคัดย่อ)
  4. ให้ฝ่ายจัดการวารสารตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (plagiarism) ด้วยโปรแกรมที่น่าเชื่อถือหากตรวจพบต้องติดต่อผู้นิพนธ์เพื่อขอคำชี้แจงทันที
  5. หากมีข้อสงสัยในบทความให้ติดต่อผู้นิพนธ์ (หรือให้ฝ่ายจัดการวารสารเป็นผู้ติดต่อ) เพื่อขอคำชี้แจง หรือหลักฐานประกอบเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในรายละเอียดต่าง ๆ ของบทความ
  6. เก็บข้อมูลของผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินบทความ และ/หรือที่ปรึกษาสถิติเป็นความลับตลอดช่วงระยะเวลาการประเมินบทความ โดยเฉพาะการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาจากความต้องการทางธุรกิจ
  7. ตรวจชำระต้นฉบับ แก้ไข ขัดเกลาบทความทั้งด้านภาษาและความถูกต้องของเนื้อหาตามหลักวิชา รวมทั้งพิสูจน์อักษร
  8. วางแผนรูปแบบการวิเคราะห์/พิจารณาบทความ รูปแบบของวารสาร การจัดหน้า การใช้ตัวอักษรรวมทั้งการคัดเลือกภาพประกอบ จัดภาพ และกำหนดขนาดภาพให้เหมาะสมกับการพิมพ์ในหน้ากระดาษ
  9. เป็นผู้เขียนบทความ เช่น บรรณาธิการแถลง

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ (Authors)

  1. เนื้อหาในบทความต้องเป็นผลงาน/การสังเคราะห์ความคิดของผู้นิพนธ์เอง ไม่ลอกเลียนหรือตัดทอนจากบทความอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ได้อ้างอิงอย่างเหมาะสม โดยระบุแหล่งที่มาในรายการเอกสารอ้างอิงในส่วนท้ายบทความทุกครั้ง
  2. ต้องมีความรับผิดชอบต่อบทความของตนเองและรับรองว่าบทความไม่เคยถูกตีพิมพ์ หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ที่ใด
  3. เนื้อหาในบทความถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากลที่ได้รับการยอมรับและกฎหมาย โดยเขียนตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในคำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์ รวมถึงระบุเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและแหล่งทุนที่สนับสนุนการวิจัย (ถ้ามี)
  4. บทความที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจริยธรรมเกี่ยวกับการวิจัยในมนุษย์จากสถาบันของรัฐ (โปรดแนบสำเนาหนังสือรับรองของคณะกรรมการจริยธรรมเกี่ยวกับการวิจัยในมนุษย์มาด้วย)
  5. ยินยอมให้บรรณาธิการ/กองบรรณาธิการกลั่นกรองและแก้ไขบทความให้ถูกต้องทั้งด้านภาษาและหลักวิชา โดยพร้อมแก้ไข หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมให้เรียบร้อยก่อนจะได้รับพิจารณาตีพิมพ์
  6. ผู้นิพนธ์และคณะลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานรับรองผลงานและยินยอมให้ตีพิมพ์ในใบแทรก “หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของบทความและยินยอมให้ตีพิมพ์” ที่ท้ายวารสาร โดยระบุสัดส่วนความรับผิดชอบในผลงานของแต่ละคนทุกคน (ผู้นิพนธ์ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำวิจัยจริง)

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้พิจารณาบทความ* (Reviewers)

  1. ประเมินบทความที่ได้รับมอบหมายในสาขาวิชาที่ตนเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาจากคุณภาพของบทความว่าถูกต้อง เหมาะสม และมีประโยชน์
  2. ต้องรักษาความลับของบทความที่ส่งมาขอรับการประเมิน ไม่เผยแพร่สู่สาธารณะและบุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
  3. ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ไม่นำความคิดเห็นส่วนตัว ความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนามาตัดสินบทความ หากมีเหตุให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนต้องแจ้งบรรณาธิการและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น
  4. หากพบว่าบทความที่ส่งมาขอรับการประเมินมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่เหมือน หรือซ้ำซ้อนกับบทความอื่นต้องแจ้งบรรณาธิการวารสารทันที
  5. ให้คำแนะนำในการแก้ไขบทความ รวมถึงการอ้างอิงบทความอื่นๆ หรือแนวทางการปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับบทความที่ส่งมาขอรับการประเมิน แต่ผู้นิพนธ์ไม่ได้อ้างถึง

หน้าที่และความรับผิดชอบของที่ปรึกษาสถิติ*

  1. ประเมินบทความที่ได้รับมอบหมายในด้านสถิติ ทั้งรูปแบบการศึกษาและการวิเคราะห์ข้อมูล
  2. ตรวจสอบความถูกต้องของสถิติที่ใช้และค่าต่างๆ ที่คำนวณได้ โดยให้คำแนะนำในการปรับแก้ไขหากผู้นิพนธ์นำเสนอมาไม่ถูกต้อง

            *ผู้พิจารณาบทความและที่ปรึกษาสถิติกับผู้นิพนธ์ต่างไม่ทราบรายชื่อของกันและกัน