การพัฒนารูปแบบการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
คำสำคัญ:
รูปแบบการดูแล, การดูแลแบบประคับประคอง, ผู้ป่วยโรคมะเร็งบทคัดย่อ
การดูแลแบบประคับประคองส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการ ดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เขตสุขภาพที่ 2 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 แบ่งการวิจัยเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 สำรวจสภาพการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โดยเก็บข้อมูลจากพยาบาล ในเขตสุขภาพที่ 2 จำนวน 363 คน ร่วมกับการวิจัยเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์พยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง 10 คน ผู้ป่วยโรค มะเร็งกับญาติที่มารักษาที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก 30 คน ระยะที่ 2 สร้างรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ ป่วยโรคมะเร็ง โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากระยะที่ 1 และระยะที่ 3 นำรูปแบบมาใช้และประเมินผล รวบรวมข้อมูลจากพยาบาลวิชาชีพ จังหวัดพิษณุโลก 81 คน พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก 39 คน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีค่า Palliative Performance Scale (PPS) ≤ 70 และญาติผู้ดูแล 36 คน ด้วยแบบวัดความรู้การดูแลแบบประคับประคอง แบบวัดความปวดแบบสอบถามความพึงพอใจของญาติต่อการดูแล และความพึงพอใจของพยาบาลต่อการใช้รูปแบบ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบวิลคอกซัน พบว่า หลังใช้รูปแบบพยาบาลวิชาชีพมีความรู้การดูแลแบบประคับประคองเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยมีระดับความปวดลดลง พยาบาลวิชาชีพพึงพอใจต่อรูปแบบระดับมาก และญาติผู้ดูแลพึงพอใจต่อการ ดูแลระดับมาก เช่นกัน สรุปคือ การพัฒนารูปแบบการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดลดลง พยาบาลและญาติผู้ดูแลมีความพึงพอใจมาก