มุมมองในการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อาศัยในเขตชานเมือง
คำสำคัญ:
การจัดการตนเอง, โรคเบาหวาน, โรคเรื้อรังบทคัดย่อ
โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถจัดการตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ การวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจมุมมองการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อาศัยในเขต ชานเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีมุมมองการจัดการตนเอง 5 ประเด็นหลัก คือ 1) ความรู้สึกครั้ง แรกเมื่อทราบว่าเป็นเบาหวาน มี 4 ประเด็นย่อย คือ ทำใจยอมรับ เป็นแล้วไม่หาย กลัวตายกลัวโรคแทรก และ ทำไมต้องเป็นเรา 2) การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานได้จาก 6 กลุ่ม คือ หมอหรืออาสาสมัครสาธารณสุข ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อนบ้านหรือญาติ อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ/ดูโทรทัศน์ และ ตัวแทนขายยา 3) การตัดสินใจเริ่มจัดการ เนื่องจาก 3 ประเด็น คือ กลัวโรคแทรกซ้อน ไม่เชื่อมั่นการรักษาอื่น และเห็นตัวอย่างไม่ดี 4) การประเมินผลการจัดการตนเอง พิจารณาจาก 4 ประเด็น คือ ระยะเวลาในการนัดตรวจ การลดยา ระดับน้ำตาล และสังเกตอาการ 5) ปัจจัยของความสำเร็จในการจัดการตนเองมี 4 ประเด็นย่อยคือ พฤติกรรมการกิน ออกกำลังกาย ทำตามหมอ และทำใจ ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการจัดโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อไป