ภาวะคุกคามสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงของผู้สูงอายุในชุมชนกึ่งเมือง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา: เปรียบเทียบระหว่างเพศชายและหญิง

Main Article Content

Tassanee Silawan
Nuttawat Ninkarnjanakun
Kittipong Ponsen
Maneerat Ouayswat

บทคัดย่อ

            ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์สังคมสูงวัยโดยสัดส่วนผู้สูงอายุหญิงมากกว่าชายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การดูแลและจัดบริการเพื่อผู้สูงอายุจึงควรคำนึงถึงมิติทางเพศด้วย การวิจัยเชิงพรรณนานี้มุ่งอธิบายและเปรียบเทียบภาวะคุกคามสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงระหว่างผู้สูงอายุชายและหญิงในชุมชนกึ่งเมือง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา กลุ่มตัวอย่างคือผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลสูงเนิน จำนวน 220 คน สุ่มตัวอย่างครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุจากทุกชุมชนด้วยวิธีการสุ่มแบบง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้สูงอายุหรือตัวแทนครัวเรือนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่สามารถให้ข้อมูลของผู้สูงอายุได้ครบถ้วน ด้วยแบบสัมภาษณ์ อธิบายคุณลักษณะตัวแปรด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบค่าสัดส่วนของตัวแปรระหว่างเพศด้วย Chi-square test ผลการวิจัยพบว่าหนึ่งในสี่ของตัวแปรที่ศึกษามีความแตกต่างกันระหว่างเพศชายและหญิง โดยผู้สูงอายุชายมีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูงกว่าผู้สูงอายุหญิงในประเด็นการสูบบุหรี่/ยาเส้นและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ในขณะที่ผู้สูงอายุเพศหญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศชายในเรื่องเส้นรอบเอวและการไม่ใช้เข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ ส่วนประเด็นที่ผู้สูงอายุชายและหญิงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพใกล้เคียงกันคือภาวะหรือโรคความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน  ภาวะซึมเศร้า การไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์  การบริโภคอาหาร การมีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกาย และระยะเวลานอนหลับในวันธรรมดาหรือวันหยุด ข้อเสนอแนะจากการวิจัยควรจัดกิจกรรมป้องกันและลดความเสี่ยงของผู้สูงอายุ โดยให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมกับเพศ อายุและบริบทของครอบครัว ควรส่งเสริมให้มีการประเมินหรือคัดกรองภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง และควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้แลกเปลี่ยนและช่วยเหลือกันในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพ ภายใต้การหนุนเสริมจากชุมชนและการร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Article Details

บท
Articles