จริยธรรม

Publication Ethics 
จริยธรรมการตีพิมพ์

     วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมล้านนา (Lanna Journal of Health Promotion & Environmental Health) เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการระหว่างผู้นิพนธ์กับผู้อ่าน ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส จึงได้กำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติที่ดี และจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการตามแนวทางของคณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ ( Committee on Publication Ethics [COPE]) โดยแยกตามบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้

บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

  1. ส่งบทความเพื่อรับการพิจารณาที่เป็นผลงานใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน หรือไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น ต้องไม่มีการคัดลอกผลงาน (Plagiarism) ทั้งของตนเองและผู้อื่น และผู้นิพนธ์ที่มีชื่อในบทความต้นฉบับทุกคนต้องมีส่วนในการดำเนินการจริง  ทั้งนี้ผู้ประพันธ์บรรณกิจ (Corresponding author) ต้องรับรองมใน หนังสือนำส่งผลงานวิชาการ
  2. กรณีเป็นบทความวิจัย ให้แนบสำเนาหนังสือรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ จากหน่วยงานที่เก็บข้อมูล มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย โดยไม่ปิดบังซ่อนเร้น ไม่ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือทำให้เข้าใจผิด
  3. เตรียมต้นฉบับบทความถูกต้องตามที่ได้ระบุไว้ในคำแนะนำ คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์
  4. แก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิและกองบรรณาธิการอย่างครบถ้วน แล้วส่งบทความที่แก้ไขแล้วมายังกองบรรณาธิการในระยะเวลาที่กำหนด หรือแจ้งบรรณาธิการกรณีที่ต้องการเลื่อนกำหนดส่ง หรือยกเลิกการส่งบทความ การไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าวอาจส่งผลต่อการตีพิมพ์ผลงาน หรือการตัดสินใจของบรรณาธิการ
  5. อ้างอิงผลงานวิชาการของผู้อื่นที่นำมาใช้ในผลงานตัวเองอย่างครบถ้วนทั้งในเนื้อหา (In-text citation) และเอกสารอ้างอิงท้ายบทความ (Reference list) โดยใช้รูปแบบการอ้างอิงของ คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์
  6. วารสารยังไม่มีการชำระค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ บทความจะเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ผลการประเมินจะเป็นการ ตอบรับ หรือ ปฏิเสธ การตีพิมพ์ 

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการ (Duties of Editors)

  1. คัดกรองบทความที่ส่งมาตีพิมพ์ในวารสารให้ตรงตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร พิจารณาคุณภาพของบทความตามหลักวิชาการ โดยใช้แบบประเมินบทความและ คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์ เป็นแนวทาง
  2. เลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญตรงตามสาขาของบทความและอยู่คนละสังกัดกับผู้แต่ง แล้วดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณกลั่นกรองบทความโดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่ทราบชื่อกันและกัน
  3. ไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินบทความแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  4. ตัดสินใจเกี่ยวกับคุณภาพบทความหลังกระบวนการกลั่นกรอง ตามความถูกต้องของหลักวิชาการ ความสำคัญและความทันสมัยของเรื่องที่นำเสนอ ผลการแก้ไขบทความตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนความชัดเจนในการสื่อสารและการเขียนเชิงวิทยาศาสตร์
  5. ตรวจบทความในด้านการคัดลอกผลงานวิชาการ (Plagiarism) ทั้งของตนเองและผู้อื่นอย่างเคร่งครัด หากพบเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องหยุดกระบวนการประเมินและติดต่อผู้นิพนธ์ทันทีเพื่อขอให้แก้ไข หรือชี้แจง เพื่อประกอบการตัดสินใจ  ตอบรับ หรือ ปฏิเสธ การตีพิมพ์บทความนั้น
  6. ไม่กลับคำตัดสินใจของบรรณาธิการคนก่อนยกเว้นมีการพิสูจน์ถึงปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้น
  7. ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินบทความ และผู้บริหารสถาบัน
  8. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการกลั่นกรองบทความ และมีความพร้อมในการชี้แจงกรณีมีการปฏิบัติที่แตกต่างจากกระบวนการตรวจสอบที่ได้ระบุไว้
  9. จัดพิมพ์ คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์ ในทุกเรื่องที่ผู้นิพนธ์ควรรับทราบ และปรับปรุงคำแนะนำให้ทันสมัยอยู่เสมอ
  10. ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าบทความที่ส่งมารับการพิจารณานั้นมีคุณภาพ

บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

  1. ไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  2. ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบทความที่ส่งมาให้พิจารณา กรณีพบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนให้แจ้งบรรณาธิการ และปฏิเสธการประเมินบทความนั้น
  3. ประเมินบทความในสาขาที่ตนเชี่ยวชาญโดยพิจารณาคุณภาพของบทความตามประเด็นที่ได้ระบุไว้ในแบบประเมินบทความ และ คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์โดยใช้หลักวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษณ์ ไม่ใช้ความเห็นส่วนตัวเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ
  4. แจ้งบรรณาธิการหากพบว่าเนื้อหาในบทความมีความซ้ำซ้อนกับผลงานอื่น
  5. ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้นิพนธ์ หากมีงานวิจัยที่สำคัญและสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมินแต่ผู้นิพนธ์ยังไม่ได้อ้างถึง
  6. ส่งผลการประเมินตามระยะเวลาที่กำหนด หรือแจ้งบรรณาธิการกรณีที่ต้องการเลื่อนกำหนดการส่ง