พฤติกรรมการบริโภคอาหารและปัจจัยที่มีผลต่อการบริโภคอาหารของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่มารับบริการคลินิกโรคเรื้อรัง โรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • บุหลัน อาสาสี -

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์การวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางนี้ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารและปัจจัยที่มีผลต่อการบริโภคอาหารของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่มารับบริการคลินิกโรคเรื้อรัง โรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จำนวน 237 คน เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์จากแบบสอบถาม ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล พฤติกรรมสุขภาพ ปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ ปัจจัยเสริม และการบริโภคอาหาร วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุโลจิสติก (Multiple logistic regressions)

ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง ร้อยละ 55.27 มีอายุในช่วง 50-59 ปี ร้อยละ 72.15 อายุเฉลี่ย เท่ากับ 54.32 ปี (S.D.=4.54) มีระยะเวลาการเจ็บป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง 1 ปีมากที่สุด (ร้อยละ 47.26) มีโรคร่วมเป็นโรคเบาหวานร่วมกับโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด (ร้อยละ 46.58) มีค่าดัชนีมวลกายภาวะอ้วนระดับ 1 (BMI=25.0–29.9 กก.ม2) มากที่สุด (ร้อยละ 41.77) ด้านพฤติกรรมสุขภาพ พบว่า กลุ่มตัวอย่างออกกำลังกาย ร้อยละ 51.90 ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 56.54 ไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 59.49 และรับประทานยาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ร้อยละ 57.80 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการบริโภคอาหารของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05) ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ (ORadj=2.08, 95% CI=1.12-3.85, p=0.02) มีความรู้ระดับต่ำ (ORadj= 3.08, 95% CI=1.42-6.68, p=0.00) และมีระดับความพึงพอใจด้านปัจจัยเสริมระดับต่ำ (ORadj=4.81, 95% CI=1.88-12.28, p=0.00).

References

กวิศรา สอนพูด, & ลัฆวี ปิยะบัณฑิตกุล. (2563). การดูแลสุขภาพเพื่อชะลอไตเสื่อมของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและประชาชนในชุมชนแห่งหนึ่ง จังหวัดศรีสะเกษ. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์, 40(1), 101-114.

เกษฎาภรณ์ นาขะมิน, มาลี ล้วนแก้ว, ทอฝัน ทองสมบัติ, & บุษกร ทิ้งชั่ว. (2561). การมีส่วนร่วมของครอบครัวในการดูแลเพื่อชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง. วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, (5), 160-171.

จำรัส สาระขวัญ, สุนทรี สิทธิสงคราม, มาลินี บุญเกิด, สุกัญญา กระเบียด, & มาลี มีแป้น. (2560). คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย. วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี, 28(2), 153-164.

ทักษพร ฝอดสูงเนิน. (2560). ความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โรงพยาบาลหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ. วิทยานิพนธ์ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการระบาด บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ปิยาภรณ์ สวรรยาวิสุทธิ์, & ภัทระ แสนไชยสุริยา. (2557). ผลของกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารใน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี. วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 7(1), 10-17.

ไพศาล ไตรสิริโชค, หลั่งพร อุตรศาสตร์, & วราทิพย์ แก่นการ. (2562). ผลของการสนับสนุนการจัดการตนเองโดยทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อชะลอโรคไตเรื้อรังในหน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น. ศรีนครินทร์เวชสาร, 34(6), 552-558.

ภทรพรรณ อุณาภาค, และขวัญชัย รัตนมณี. (2558). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางไต ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังของโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม. วารสารสาธารณสุขมหาวิทยาลัยบูรพา, 10(2), 44-54.

วริณฎ์ฐิษา มูลกองศรี, & เลิศชัย เจริญธัญรักษ์. (2564). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางไตในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย. วารสารวิจัย มข., 21(3), 151-160.

วิภาวรรณ อะสงค์. (2558). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารและน้ำของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง. วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา.

เวชระเบียนโรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม. (2562). สถิติจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง. ค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2562, จาก http://mkho.moph.go.th/mko/frontend/web/ index.php/site/index

สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2560). กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง. ค้นเมื่อ 3 มกราคม 2563, จาก http://www.dmthai.org

อรุณ จิรวัฒน์กุล. (2557). ชีวสถิติสําหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ. ขอนแก่น: ภาควิชาชีวสถิติและประชากรศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Ingsathit, A., Thakkinstian, A., Chaiprasert, A., Sangthawan, P., Gojaseni, P., Kiattisunthorn, K., et al. (2010). Prevalence and risk factors of chronic kidney disease in the Thai adult population: Thai SEEK study. Nephrology, Dialysis, Transplantation, 25(5), 1567–1575.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-09-07