ความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดเมตาบอลิกซินโดรม ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับบริการที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • นริศรา ลุนทา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • สุดถนอม กมลเลิศ งานบริการพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์

คำสำคัญ:

ความชุกและปัจจัย, การเกิดเมตาบอลิกซินโดรม, ผู้ป่วยเอดส์, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี

บทคัดย่อ

ปัจจุบันการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่กลับพบโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ การวิจัยแบบภาคตัดขวางนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความชุก และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดเมตาบอลิกซินโดรม ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับบริการที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างจำนวน 266 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และแบบบันทึกข้อมูล ประกอบไปด้วย ข้อมูลลักษณะทางประชากร พฤติกรรมสุขภาพ สถานะสุขภาพ และรูปแบบการรักษา โดยทำการศึกษาระหว่างเดือน ตุลาคม 2562 ถึง พฤษภาคม 2563 ประเมินเมตาบอลิกซินโดรมใช้เกณฑ์ของ NCEP ATP III และวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ และสถิติถดถอยพหุโลจิสติก

ผลการศึกษา พบว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ร้อยละ 53.7 เป็นเพศชาย มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 44.7±11 ปี พบภาวะอ้วนลงพุง ร้อยละ 26.0 มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหารสูงกว่า 100 mg/dL ร้อยละ 36.5 มีความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวสูงกว่า 130 mmHg ร้อยละ 40.6 และความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวสูงกว่า 85 mmHg ร้อยละ 29.0 ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมีค่ามากกว่า 150 mg/dL ร้อยละ 40.6 ส่วนไขมัน HDL คอเลสเตอรอลในเพศชายน้อยกว่า 40 mg/dL พบร้อยละ 27.3 และในเพศหญิงน้อยกว่า 50 mg/dL พบร้อยละ 39.0 จากเกณฑ์ประเมิน พบความชุกของภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ร้อยละ 38.7 สำหรับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดเมตาบอลิกซินโดรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การมีโรคประจำตัวในขณะติดเชื้อ
เอชไอวี (ORadj=3.30; 95% CI=1.89-5.73) การมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 <200 cells/ mm3 (ORadj=3.49; 95% CI=1.04-11.69) และการสูบบุหรี่ (ORadj=2.89; 95% CI=1.56-5.35) ส่วนปัจจัยด้านอายุ และยาต้านไวรัสกลุ่ม Protease Inhibitors (Pls) ไม่พบความสัมพันธ์ต่อการเกิดเมตาบอลิกซินโดรมในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์

ดังนั้น จากผลการศึกษาควรมีการให้ความรู้แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และควรมีการวางแผนการรักษาในระยะยาวให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนป้องกัน และควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเมตาบอลิกซินโดรม เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต

 

 

References

กรมควบคุมโรค. (2561). เอดส์ (AIDS-Acquired Immune Deficiency Syndrome) สคร.5. ค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2562, จาก https://ddc.moph.go.th/th/site/disease/detail/57/status

กิตติคุณ ยั่งยืน. (2559). ภาวะอ้วนลงพุงหรือภาวะเมแทบอลิกซินโดรม. R&D NEWSLETTER, 23(2), 17-20.

ธีรวุฒิ เอกะกุล. (2543). ระเบียบวิธีวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. อุบลราชธานี: สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.

ประดิษฐ์ สินธวณรงค์. (2556). แก้ปัญหาเบาหวาน-ความดัน ในผู้ป่วยเอชไอวี. ค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562, จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/3083

พนิต ทองพูล, อลิศรา แสงวิรุณ, และชาญกิจ พุฒิเลอพงศ์. (2560). ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกในผู้ติดเชื้อเอชไอวี. วารสารเภสัชกรรมไทย, 9(1), 171-179.

พาธิตา สิทธิเจริญชัย. (2559). อุบัติการณ์และปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในประเทศไทย โดยศึกษา 5 ปีย้อนหลัง. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอายุรศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พีระ สมบัติดี, สายสมร พลดงนอก, และสิทธิชัย เนตรวิจิตรพันธ์. 2558. ความรู้เรื่องภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ = Dyslipidemia. ขอนแก่น: หน่วยสร้างเสริมสุขภาพงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลศรีนครินทร์

เพ็ญประภา พลับบดี, ฉวีวรรณ รัตนจามิตร, สุภมัย สุนทรพันธ์, และกมลทิพย์ วิวัฒนวงศา. (2554). ความชุกของการเกิดกลุ่มอาการเมแทบอลิกในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง. วิทยานิพนธ์ปริญญาเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเภสัชกรรมคลินิก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

ยุทธนา หมั่นดี และคณะ. (2558). การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย. ค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2563, จาก http://www.thailandquitline.or.th/site/about/view/90

สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ. (2556). แก้ปัญหาเบาหวาน-ความดัน ในผู้ป่วยเอชไอวี. ค้นเมื่อ 29 เมษายน 2563, จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/3083

สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ. (2562). โรคหัวใจและหลอดเลือดฯ สถิติตายอันดับ 1 ของโลก. ค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2562, จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/47604

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. (2561). รายงานฉบับสมบูรณ์ สาธารณรัฐเคนยา 2561. ค้นเมื่อ 22 เมษายน 2563, จาก https://toi.boi.go.th/information/download/527

สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. (2557). โครงการการดูแลรักษากลุ่มประชากรนอกสิทธิและการป้องกันเอชไอวีในกลุ่มเยาวชน,MARPsโดยการส่งเสริมบูรณาการวิชาการ และเครือข่ายกับการกระจายอำนาจเพื่อให้เกิดความครอบคลุม และยั่งยืน. ค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2562, จาก http://aidssti.ddc.moph.go.th/contents/view/904

สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. (2560). การดูแลรักษาผู้ใหญ่ติดเชื้อเอชไอวี. ใน สุเมธ องค์วรรณดี (บรรณาธิการ). แนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2560. (หน้า 75-128). นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

Brown, T. T., Cole, S. R., Li, X., Kingsley L. A., Palella, F. J., Riddler, S. A., et al. (2005). Antiretroviral therapy and the prevalence and incidence of diabetes mellitus in the multicenter AIDS cohort study. Archives of Internal Medicine, 165(10), 1179-1184.

Carr, A., Samaras, K., Burton, S., Law, M., Freund, J., Chisholm, D. J., et al. (1998). A syndrome of peripheral lipodystrophy hyperlipidaemia and insulin resistance in patients receiving HIV protease inhibitors. AIDS, 12(7), 51-58.

Palella Jr, F. J., Delaney, K. M., Moorman, A. C., Loveless, M. O., Fuhrer, J., Satten, G. A., et al. (1998). Declining morbidity and mortality among patients with advanced human immunodeficiency virus infection. New England Journal of Medicine, 338(13), 853-860.

Duvnjak, L., Bulum, T., & Metelko, Z. (2008). Hypertension and the Metabolic syndrome. Diabetologia Croatica, 37(1), 83-9.

Feinstein, M. J., Hsue, P. Y., Benjamin L. A., Bloomfield, G. S., Currier J. S., Freiberg M. S., et al. (2019). Characteristics, prevention, and management of cardiovascular disease in people living with HIV: A scientific statement from the American Heart Association. Circulation, 140(9), 98-124.

Huang, P. L. (2009). A comprehensive definition for metabolic syndrome. Disease Models & Mechanisms, 2(6), 231-237.

Jantarapakde, J., Phanuphak, N., Chaturawit, C., Pengnonyang, S., Mathajittiphan, P., Takamtha, P., et-al. (2014). Prevalence of metabolic syndrome among antiretroviral-naive and antiretroviral-experienced HIV-1 infected Thai adults. AIDS Patient Care and STDs, 28(7), 331-136.

Katoto-Patrick, D. M. C., Thienemann F., Bulabula, A. N. H., Esterhuizen, T. M., Aimé, B., Murhula-Pierre, P. M. L., et al. (2018). Prevalence and risk factors of metabolic syndrome in HIV-infected adults at three urban clinics in a post-conflict setting, Eastern Democratic Republic of the Congo. Tropical Medicine & International Health, 23(7), 795-805.

Kiama, C. N., Wamicwe, J. N., Oyugi, E. O., Obonyo, M. O, Mungai, J. G., Roka, Z. G., et al. (2018). Prevalence and factors associated with metabolic syndrome in an urban population of adults living with HIV in Nairobi, Kenya. Pan African Medical Journal, 29(90), 1-9.

Krishnan, S., Schouten, J. T., Atkinson, B., Brown, T., Wohl, D., McComsey, G. A., et al. (2012). Metabolic syndrome before and after initiation of antiretroviral therapy in treatment-naive HIV-infected individuals. Journal of Acquired Immune Deficiency Syndromes, 61(3), 381-389.

Mottillo, S., Filion, K. B., Genest, J., Joseph, L., Pilote, L., Poirier, P., et al. (2010). The metabolic syndrome and cardiovascular risk: A systematic review and meta-analysis. Journals of the American College of Cardiology, 56(14), 1113-1132.

Teekawong, C., Apidechkul, T., Cassely, M., & Chansareewittaya, K. (2017). Prevalence and factors associated with metabolic syndrome among HIV/AIDS infected patients who use ARV, Nan Province, 2015-1016. Siriraj Medical Journal, 69(6), 319-329.

UNAIDS. (2019). AIDS by the numbers. Retrieved July 24, 2019, from https://www.unaids

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-09-02

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ