ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
คำสำคัญ:
ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, จังหวัดขอนแก่นบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional analytic study) มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยนี้คือกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย จำนวน 245 คน ที่รับบริการขอคำปรึกษาและตรวจรักษาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ในสถานพยาบาลคลินิกดูแลผู้ป่วยเอชไอวีในผู้ใหญ่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และคลินิกปลายฟ้า ศูนย์แพทย์ชาตะผดุง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปทางประชากร ข้อมูลด้านพฤติกรรมทางเพศในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลด้านประวัติการเจ็บป่วยและการเข้าถึงบริการ การตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลการใช้สารเสพติด สารมึนเมา การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในช่วง12 เดือนที่ผ่านมา ความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เก็บข้อมูลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม 2563 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics) และวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระคราวละหลายๆ ตัวโดยการวิเคราะห์ Multiple logistic regression
ผลการศึกษา พบว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 34.2 จำแนกเป็นรายโรคดังนี้คือ โรคซิฟิลิสพบมากสุด ร้อยละ 41.6 รองลงมาคือโรคหนองใน ร้อยละ 20.8 โรคหูดอวัยวะเพศ/ทวารหนัก ร้อยละ 16.7 โรคเริมอวัยวะเพศ/ทวารหนัก ร้อยละ 11.5 โรคแผลริมอ่อน ร้อยละ 5.2 กามโรคต่อมและท่อน้ำเหลือง ร้อยละ 2.1 และโรคหนองในเทียม ร้อยละ 2.1 สำหรับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ได้แก่ กลุ่มที่ไม่มีอาชีพ (OR=3.34; 95% CI: 1.55 ถึง 7.19) การสวมถุงยางอนามัยไม่สม่ำเสมอก่อนมีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือทวารหนัก (OR= 4.29; 95% CI: 2.06 ถึง 8.92) การไม่เคยตรวจเลือดเพื่อคัดกรองหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ OR=0.16; 95% CI: 0.05 ถึง 0.48) การมีเพศสัมพันธ์หลังจากการใช้สารเสพติด สารมึนเมา (OR=3.78; 95% CI: 1.29 ถึง 11.01) และการมีเพศสัมพันธ์หลังจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (OR=2.92; 95% CI: 1.35 ถึง 6.36)
จากผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ทีมสุขภาพควรศึกษาวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงนั้นๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรค เช่น ศึกษาเชิงทดลองในเรื่องของการให้ความรู้ ความเข้าใจ การจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กลุ่มเป้าหมายเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น และหาแนวทางในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม และควรมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันในการวางแผนแก้ไขป้องกันปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายต่อไป
References
กระทรวงสาธารณสุข, กรมควบคุมโรค. (2559). สรุปแนวทางการวิเคราะห์ระบบเฝ้าระวัง 5 กลุ่มโรค 5 มิติ ปี พ.ศ. 2559.
กรุงเทพฯ. บริษัททีเอส อินเตอร์ปริ้น จำกัด.
กุลภัสสรณ์ ศิริมนัสสกุล. (2560). รายงานการศึกษาสถานการณ์โรคติเต่อทางเพศสัมพันธ์. ค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2563.
จาก plan.ddc.moph.go.th/km2016/documents/sti.pdf.
จิรภัทร หลงกุล. (2555). การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ในจังหวัดขอนแก่น.
วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 5(2), 29-38.
บังอร เทพเทียน และคณะ. (2560). พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีกับการใช้สารเสพติดของกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนในกรุงเทพมหานคร.
วารสารวิชาการสาธารณสุข, 26(2), 240-252.
วิชัย พิบูลย์ และคณะ. (2559). ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ในระหว่างวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น.
วารสารการพยาบาล การสาธารณสุขและการศึกษา, 17(3), 53-57.
พรรณิภา สังข์ทอง. (2549). พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ของผู้ชายที่เข้ามาตรวจรักษาโรค.
วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเพศศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
มลิวัลย์ แก้วมะเริง, ภาวิณี มนตรี, และเจตสุภา สมางชัย. (2556). พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย จังหวัดลพบุรี.
สระบุรี: สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดสระบุรี.
ศุภดิษฐ์ บาริศรี. (2561). ความรอบรู้สุขภาพเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: มิติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ Health Literacy for Sustainable Development Goal: Human Resource
Development. การประชุมวิชาการสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 16 วันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2561. (หน้า 275-283)
สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดขอนแก่น. (2561). การคาดประมาณสถานการณ์การแพร่ระบาดของเอชไอวี ในประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป
ในจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2560-2573. ขอนแก่น. สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์.
Hsieh, F.Y., Bloch. D.A., & Larsen, M.D. (1998). A simple method of sample size calculation for linear and logistic regression. Statistics in Medicine, 17(14).
1623-1624.
Marcus, U., Ort, J., Grenz, M., Eckstein, K., Wirtz, K., & Wille, A. (2015). Risk factors for HIV and STI diagnosis in a community-based HIV/STI testing and counselling
site for men having sex with men (MSM) in a large German city in 2011–2012. BMC Infectious Disease 15, 14
World Health Organization. (2018). Report on global sexually transmitted infection surveillance. Retrieved July 10 2019, from https://apps.who.int/iris/bitstream/
handle/10665/277258/9789241565691-eng.pdf?ua=1.