ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อผลการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
คำสำคัญ:
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, ความน่าจะเป็นของผลการรักษา, การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกบทคัดย่อ
จากสถิติจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจของประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งสถิติจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันของโรงพยาบาลขอนแก่นที่สูงขึ้นในทุกปี ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน พร้อมทั้งสร้างสมการประมาณความน่าจะเป็นของผลการรักษาเพื่อพยากรณ์ผลการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขอนแก่น โดยประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่กลุ่มโรคหัวใจ และรับไว้ในการรักษาที่แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น ในปีงบประมาณ 2556–2560 จำนวน 5,892 คน แบ่งประชากรออกเป็นชั้นภูมิตามชนิดของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและเพศ คำนวณขนาดตัวอย่างโดยใช้สูตรของ Taro Yamane ได้จำนวนตัวอย่าง 375 คนและสุ่มอย่างแบบมีระบบจากแต่ละชั้นภูมิ (Stratified Systematic Sampling) โดยเรียงตามอายุของผู้ป่วย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินผู้ป่วยแรกรับและทะเบียนประวัติผู้ป่วย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ การทดสอบไคกำลังสองของเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยลอจิสติกทวิภาค (Binary logistic regression analysis) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ชนิด Non STEMI จำนวน 215 คน (ร้อยละ 57.3) รองลงมาจะเป็นชนิด Acute STEMI จำนวน 125 คน (ร้อยละ 33.3) และชนิด Unstable angina จำนวน 35 คน (ร้อยละ 9.3) และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยเพศชายซึ่งมีจำนวน 234 คน (ร้อยละ 62.4) มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 274 คน (ร้อยละ 73.1)
ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการรักษาได้แก่ ตัวแปรเพศ อายุ ระดับความรู้สึกตัว ประวัติการสูบบุหรี่ ประวัติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัญญาณชีพจร อัตราการหายใจ การเป็นโรคเบาหวาน สิทธิการรักษาพยาบาล และชนิดของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เมื่อพิจารณาตัวแปรอิสระร่วมกัน เพื่อหาปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสที่จะมีผลการรักษาที่ดีขึ้น พบว่าผู้ป่วยที่อายุน้อย อาการแรกรับมาแบบรู้สึกตัว มีอัตราการหายใจที่ปกติ ไม่มีโรคเบาหวาน และเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิด Unstable angina จะส่งผลทางบวกต่อโอกาสที่จะมีผลการรักษาที่ดีขึ้น โดยตัวแปรทั้งหมดสามารถพยากรณ์ผลการรักษาของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 88.8
References
กรมสุขภาพจิต. (2562). เผยสถิติน่าตกใจคนไทยป่วยโรคหัวใจ 432,943 คนต่อปี นักโภชนบำบัดชี้ นมถั่วเหลืองช่วยลดปัจจัยเสี่ยง. ค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2561, จาก https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29507
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน. (2561). ค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2561, จาก https://www.honestdocs.co/cardiac-muscle-heart-attack
กัลยา วานิชยัญชา. (2560). การวิเคราะห์สถิติขั้นสูงด้วย Spss for Windows (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ:.สามลดา.
เกรียงไกร เฮงรัศมี และคณะ. (2557). โรคหลอดเลือดหัวใจ. กรุงเทพฯ: สุขุมวิทย์การพิมพ์.
เกรียงไกร เฮงรัศมี. (2555). มาตรฐานการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน. กรุงเทพฯ: สุขุมวิทย์การพิมพ์.
ณรงค์กร ชัยวงค์, & ปณวัตร สันประโคน. (2562). ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน: ความท้าทายของพยาบาลฉุกเฉินในการดูแลผู้ป่วยระยะวิกฤต. วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ, 43-51.
พิสชา เกษมทรัพย์ และคณะ. (2554). การใช้ยาและผลลัพธ์ของการรักษาผู้ป่วยอาการโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันในโรงพยาบาลทุติยภูมิ. วารสารเภสัชศาสตร์อิสาน, 7(2), 29-39.
วรวิทย์ ตันติศิริวัฒน์ และคณะ. (2551). ผลทางคลินิกของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายแบบเฉียบพลันที่เข้าร่วมระบบเร่งด่วนในการดูแล: ประสบการณ์ของโรงพยาบาลชลบุรี, จดหมายเหตุทางแพทย์, 91(6), 822-827.
วุฒิพงศ์ สายสงเคราะห์, กมล คุณาประเสริฐ, & มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย. (2553). ลักษณะผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นซ้ำกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน. ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ, 5(2), 103-106.
สถาบันโรคทรวงอก. (2559). โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน “Acute Coronary Syndrome” หรือ .Heart Attack”. ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2561 จาก http://www.boe.moph.go.th/Annual/AESR2015/aesr2558/Part%201/11/cad.pdf
สำนักงานโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2559). คู่มือการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการ โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
Srimahachota, S., Kanjanavanit, R., Boonyaratavej, S., Boonsom, W., Veerakul, G., & Tresukosol, D. (2007). Demographic, management practices and in-hospital outcomes of Thai Acute Coronary Syndrome Registry (TACSR)†: The difference from the western world. The Journal of Medical Association of Thailand, 90(10 Suppl 1), 1-11.