พฤติกรรมการป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงานของพนักงานเก็บขนมูลฝอยในเทศบาลนครขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • มัทนา นานอก คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • เลิศชัย เจริญธัญรักษ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงานและศึกษาการดำเนินงานของผู้บริหารระดับนโยบายด้านการป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงานของพนักงานเก็บขนมูลฝอยในเทศบาลนครขอนแก่นเป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนา กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานเก็บขนมูลฝอยรวมทั้งพนักงานขับรถเก็บขนมูลฝอยสังกัดสำนักงานเทศบาลนครขอนแก่นรวมทั้งสิ้น 120 คน และผู้บริหารระดับนโยบาย 1 คน เก็บข้อมูลโดยการสังเกตการปฏิบัติงานของพนักงานเก็บขนมูลฝอย การสัมภาษณ์พนักงานเก็บขนมูลฝอย และสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับนโยบาย ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้สถิติพรรณนา หาค่าจำนวน ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสูงสุด-ค่าต่ำสุด

ผลการวิจัย พบว่า ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลาง(ค่าเฉลี่ย=6.92 ค่าสูงสุด=13 ค่าต่ำสุด=6 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน=1.376) ทัศนคติเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงานอยู่ในระดับดี (ค่าเฉลี่ย=39.21 ค่าสูงสุด=42 ค่าต่ำสุด=28 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน=1.660) พนักงานเก็บขนมูลฝอยมีพฤติกรรมขณะปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย=12.15 ค่าสูงสุด=15 ค่าต่ำสุด=10 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน=1.074) โดยพฤติกรรมด้านการดูแลตนเองเพื่อป้องกันอันตรายขณะปฏิบัติงานอยู่ในระดับดี (ค่าเฉลี่ย=8.10 ค่าสูงสุด=10 ค่าต่ำสุด=7 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน=0.883) และพฤติกรรมด้านการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลขณะปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย=4.05 ค่าสูงสุด=7 ค่าต่ำสุด=3 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน=0.606) จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับนโยบายพบว่า สำนักงานเทศบาลนครขอนแก่นมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงาน การตรวจสุขภาพ มีมาตรการในการปฏิบัติงาน รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ได้แก่ หน้ากากอนามัย ชุดฟอร์มปฏิบัติงาน ถุงมือผ้า/ถุงมือยาง ชุดกันฝนและรองเท้าบูทยาง ควรสนับสนุนให้พนักงานตระหนักถึงอันตรายของการทำงานมากขึ้น เช่น การกำหนดมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด หรือการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงของผลที่ตามมา จากการไม่ปฏิบัติตาม หากปฏิบัติตามจะช่วยส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากการเก็บขนมูลฝอย

 

References

กรมควบคุมมลพิษ. (2557). รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2555. กรุงเทพฯ: กรมควบคุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

กัลยาณี โนอินทร์, & นิศากร เชื้อสาธุชน. (2555). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการเก็บขยะของพนักงานเก็บขยะ: กรณีศึกษาในสำนักงานเขตแห่งหนึ่ง กรุงเทพมหานคร. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข, 6(4), 513-523.

นพรัตน์ เที่ยงคำดี. (2556). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงานของพนักงานเก็บขยะ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลอาชีวอนามัย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา.

นริศรา เลิศพรสวรรค์, ชวพรพรรณ จันทร์ประสิทธิ์, & ธานี แก้วธรรมานุกูล. (2560). ปัจจัยคุกคามสุขภาพจากการทำงานและภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงของพนักงงานเก็บขยะ. พยาบาลสาร, 44(2), 138-150.

ปรัชญา ไชยอิ่นคำ. (2556). ปัจจัยที่ต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล. การศึกษาอิสระปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการก่อสร้างและสาธารณูปโภค คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.

เลิศชัย เจริญธัญรักษ์ และคณะ. (2545). รายงานการวิจัยเรื่องโครงการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากนโยบายการจัดการขยะมูลฝอย เทศบาลนครขอนแก่น. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.

วรรณา ชื่นวัฒนา และคณะ. (2556). พฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานของซาเล้ง. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยปทุมธานี, 5(2), 8-18.

วราภรณ์ พรหมศิริ. (2544). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตนในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานของหญิงพนักงานทำความสะอาดสถานพยาบาล วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลชุมชน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา.

วิราภรณ์ ทองยัง. (2552). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานของพนักงานเก็บขยะ. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลสาธารณสุข บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม. (2558). คู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพเก็บและคัดแยกขยะ. ค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2561, จาก http://envocc.ddc.moph.go.th/contents/view/250

อดิศักดิ์ คงวัฒนานนท์, & อดิเรก เร่งมานะวงษ์. (2560). ความเสี่ยงของผู้ประกอบอาชีพเก็บมูลฝอยและประชาชนบริเวณสถานที่ฝังกลบมูลฝอยเทศบาลนครขอนแก่น. วารสารวิชาการสาธารณสุข, 26(3), 496-505.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-01-15

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ