ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด
บทคัดย่อ
ตามที่คณะกรรมการสาธารณสุข ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (อสธจ.) ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ครอบคลุม 76 จังหวัด เมื่อเดือนกันยายน 2557 จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557–2559 ของอสธจ. พบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานบางประการไม่สามารถขับเคลื่อนตามมติหรือข้อสั่งการจากคณะอสธจ. คณะกรรมการสาธารณสุข จึงได้มีมติเห็นควรปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ และองค์ประกอบในองค์คณะ รวมถึงชื่อของ อสธจ. เป็น “คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (คสจ.)” โดยบัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560
การศึกษานี้ เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional Descriptive Study)มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา 1) ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จการดำเนินการของคณะอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัด 2) แนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และ 3) บทบาทอันพึงประสงค์ของคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด ดำเนินการเก็บข้อมูล ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ เก็บข้อมูล อสธจ.ที่มีประสิทธิผลสูง เขตละ 1 จังหวัด จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สุรินทร์ สกลนคร ร้อยเอ็ดยโสธร ปราจีนบุรี สมุทรสงคราม อ่างทอง ภูเก็ต และสตูล โดยใช้แบบสอบถามอสธจ. รวม 234 คน การสัมภาษณ์เจาะลึกประธาน เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ รวม 36 คน และการประชุมปรึกษาหารืออสธจ. จังหวัดละ 1 ครั้ง รวมทั้งสังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารรายงานการประชุม ผลการดำเนินงาน ของอสธจ. ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2559 ดำเนินการศึกษาระหว่าง เมษายน–ธันวาคม 2560 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา และข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จต่อการดำเนินงานของ อสธจ. ประกอบด้วย 1)การให้ความสำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด 2) การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายเลขานุการอสธจ. ในการขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อมโดยใช้มติที่ประชุม อสธจ. 3) ความสอดคล้องของประเด็นที่นำเข้าพิจารณาเป็นมติที่ประชุมของอสธจ. กับนโยบายของประเทศและนโยบายจังหวัด รวมทั้งเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น 4)การสนับสนุนและผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติตามมติที่ประชุมอสธจ. โดยสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด 5) การให้ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชนในการปฏิบัติตามมติที่ประชุมอสธจ. และ 6) การสนับสนุนทางวิชาการของศูนย์อนามัยเขต และกรมอนามัย
แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ คสจ. ตาม พรบ.การสาธารณสุขฉบับที่ 3 พ.ศ.2560 ได้ข้อเสนอ แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ คสจ.ประกอบด้วย 1) แนวทางการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย 2) แนวทางการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของ คสจ. ของหน่วยงานระดับส่วนกลางและระดับเขต และ 3) แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน การนำมติที่ประชุมไปสู่การปฏิบัติและการติดตามประเมินผล สำหรับข้อเสนอบทบาทอันพึงประสงค์ของคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด จากผลการวิจัย พบว่า บทบาทอันพึงประสงค์ที่ อสธจ.ต้องการให้เป็น ทุกข้อมีความสอดคล้องกับบทบาทที่บัญญัติไว้ตาม พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2560 แต่บทบาทที่พึงประสงค์จากผลการศึกษายังไม่ครบถ้วนบางส่วนตามบทบาทที่กำหนดไว้ตาม พรบ.การสาธารณสุข
ดังนั้น ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด ตาม พรบ.การสาธารณสุข ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมา กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการบังคับใช้กฎหมายสาธารณสุข โดยใช้กลไกคสจ.ในการขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด เพื่อให้คสจ.ดำเนินงานตามบทบาท อำนาจ หน้าที่ ซึ่งบัญญัติไว้ในพรบ.การสาธารณสุข กรมอนามัยควรนำผลการวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาศักยภาพของคสจ. แนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของคสจ. ให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อไป