พฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตกและภาวะโภชนาการของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดหนองคาย
บทคัดย่อ
อาหารจานด่วนแบบตะวันตกเป็นอาหารประเภทพร้อมรับประทาน มักเป็นของทอดและมีวิธีการเตรียมง่าย ให้พลังงานสูง มีไขมันและโซเดียมปริมาณมาก ใยอาหารและวิตามินน้อย แต่ก็ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหาซื้อง่าย สะดวกในการรับประทาน หากรับประทานเป็นประจำอาจก่อให้เกิดโรคได้ ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบ ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross sectional descriptive study) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก ภาวะโภชนาการ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดหนองคาย จำนวน 570 คน โดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายตามสัดส่วนจำนวนนักเรียน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เส้นรอบเอว วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสถิติเชิงอนุมาน Multiple Logistic Regression Analysis
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างอายุเฉลี่ย 16 ปี (S.D.=0.8) นักเรียนบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตกในมื้อเย็นมากที่สุด (ร้อยละ 37.0) ชนิดอาหารจานด่วนแบบตะวันตกที่ชื่นชอบมากที่สุดคือ ไก่ทอด (ร้อยละ 70.9) ด้านภาวะโภชนาการส่วนใหญ่นักเรียนอยู่ในเกณฑ์ปกติ การบริโภคเป็นมื้อเช้า/เย็น (ORadjusted=1.63, 95%CI: 1.08-2.50) ในช่วงเวลาเช้า/สาย/เที่ยง (ORadjusted=1.96, 95%CI: 1.28-2.94) การตัดสินใจบริโภคตามเพื่อน/ผู้ปกครอง (ORadjusted= 1.84, 95%CI: 1.22-2.78) และการไม่รับประทานแฮมเบอร์เกอร์ (ORadjusted=2.04, 95%CI: 1.32-3.22) มีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)
ดังนั้น ช่วงเวลาและประเภทหรือชนิดของอาหารจานด่วนที่บริโภคมีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกิน รวมถึงคนใกล้ชิดที่มีผลต่อการบริโภคด้วย เพื่อให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการที่ดี ควรให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของมื้ออาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้นักเรียนมีการตัดสินใจที่ถูกต้องในการบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก