การประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ต่อความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในคนงานอุตสาหกรรมรีดขึ้นรูปหลังคาเหล็ก

ผู้แต่ง

  • เสาวภา ห้วยจันทร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • สุนิสา ชายเกลี้ยง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

การยศาสตร์, ความเสี่ยง, ความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ, รูล่าร์, รีบาร์, อุตสาหกรรมหลังคาเหล็ก

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional analytic study) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเสี่ยงทางการยศาสตร์จากท่าทางการทำงานที่จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อของพนักงานฝ่ายผลิตที่ทำงานในอุตสาหกรรมรีดขึ้นรูปหลังคาเหล็กจากกลุ่มตัวอย่าง 97 คน ทำการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ ข้อมูลส่วนบุคคล และภาวะด้านสุขภาพ  ลักษณะงาน  และการประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์โดยใช้เครื่องมือประเมินรยางค์ส่วนบนคือ รูล่าร์ (RULA) และรยางค์ส่วนล่างคือ รีบาร์ (REBA) ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของท่าทางการทำงาน ผลการศึกษาพบว่าพนักงานส่วนใหญ่ (ร้อยละ 97.9) เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 34.61 ปี มีประสบการณ์ทำงานช่วง 5-10 ปี (ร้อยละ 45.3) และพนักงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานในระดับปฏิบัติการ ร้อยละ 73.2 และจากการประเมินความเสี่ยงของท่าทางการทำงานของพนักงานในแต่ละลักษณะงาน ผลความเสี่ยงทางการยศาสตร์ด้วยแบบประเมิน RULA พบว่าพนักงานในกลุ่มงานออฟฟิศ มีระดับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 3 ขึ้นไปคือความเสี่ยงสูงที่ควรตรวจสอบและแก้ไขโดยเร็วคิดเป็นร้อยละ 22.22 และจากการวิเคราะห์ข้อมูลของแบบประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ด้วยแบบประเมิน REBA พบว่ากลุ่มงานที่มีระดับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 4 คืองานนั้นเป็นปัญหาควรรีบทำการปรับปรุงหรือแก้ไขโดยทันที เป็นส่วนใหญ่คือกลุ่มงานคุมเครื่องพับแผ่นเหล็ก กลุ่มงานคุมเครื่องคัดโค้ง และกลุ่มงานคุมเครื่องรีดขึ้นรูปลอน โดยคิดเป็นร้อยละ 87.50 ร้อยละ 83.33 และร้อยละ 70.00 ตามลำดับ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าพนักงานที่ทำงานในฝ่ายผลิตของอุตสาหกรรมรีดขึ้นรูปหลังคาเหล็กนั้นมีส่วนงานที่พบว่าการยศาสตร์การทำงานต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วนในส่วนการผลิตแผ่นเหล็ก คัดโค้งและรีด อีกทั้งพนักงานบางส่วนของสำนักงานที่มีระดับเสี่ยงต่ออาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อได้ ดังนั้นควรมีการปรับปรุงทางวิศวกรรมด้านสถานีงานในงานผลิต และท่าทางการทำงานของพนักงาน การออกแบบช่วงเวลาพักให้เหมาะสม และการฝึกอบรมให้ความรู้ทางการยศาสตร์ และควรมีการเฝ้าระวังความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อของพนักงานโดยการใช้หลักการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพในพนักงานอุตสาหกรรมรีดขึ้นรูปหลังคาเหล็กต่อไป

References

จันจิราภรณ์ วิชัย, & สุนิสา ชายเกลี้ยง. (2557). การประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ ในพนักงานที่มีการยกเคลื่อนย้ายวัสดุ. วารสารวิจัย มข., 19(5), 708-719.

จันทิมา ดรจันทร์ใต้, & สุนิสา ชายเกลี้ยง. (2560). การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อการปวดไหล่ของพนักงานในกระบวนการผลิตมันฝรั่งทอดกรอบ. วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด, 29(2), 138-150.

ธัญญาวัฒน์ หอมสมบัติ, & สุนิสา ชายเกลี้ยง. (2553). ความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลังและรยางค์ส่วนบนในแรงงานนอกระบบ กลุ่มคนงานทำไม้กวาด. วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 3(2), 1-10.

ภัทรนุช แตงขำ, ปนดา เตชทรัพย์อรม, & ไชยยงค์ จรเกตุ. (2559). การประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางกระดูกและกล้ามเนื้อในคนงานโรงงานเครื่องปั้นดินเผาในตำบลเจดีย์หักและตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี. ใน สมาคมการยศาสตร์ไทย. การประชุมวิชาการการยศาสตร์แห่งชาติ 2559; 15-17 ธันวาคม 2559; สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต). (หน้า 99-110). กรุงเทพฯ: สมาคมการยศาสตร์ไทย.

โรจกร ลือมงคล, & สุนิสา ชายเกลี้ยง. (2557). ความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อและความเครียดจากการทำงานของพยาบาลอุบัติเหตุและฉุกเฉินในโรงพยาบาลศูนย์เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. วารสารศรีนครินทร์เวชสาร, 29(6), 516-523.

สำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน. (2560). มาตรฐานการวินิจฉัยโรคจากการทำงานฉบับเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2560. ค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2560, จาก http://www.sso.go.th/sites/default/files/skt300551.pdf

สุนิสา ชายเกลี้ยง, & ธัญญาวัฒน์ หอมสมบัติ. (2554). การประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์การทำงานโดยมาตรฐาน RULA ในกลุ่มแรงงานทำไม้กวาดร่มสุข. ศรีนครินทร์เวชสาร, 26(1), 35-40.

สุนิสา ชายเกลี้ยง, พรนภา ศุกรเวทย์ศิริ, & วิภารัตน์ โพธิ์ขี. (2558). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ปัจจัยเสี่ยง ความเสี่ยงทางการยศาสตร์ และความชุกของการปวดหลังของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สุนิสา ชายเกลี้ยง, อาริยา ปานนาค, & นภานันท์ ดวงพรม. (2559). การประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ต่อความผิดปกติของรยางค์ส่วนบนในพนักงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์. ศรีนครินทร์เวชสาร, 31(2), 202-209.

อรุณ จิรวัฒน์กุล. (2551). ชีวสถิติสำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

อิสรีย์รัช สืบศรี, มัณฑนา ดำรงศักดิ์, & ธีรนุช ห้านิรัติศัย. (2556). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บโครงร่างกล้ามเนื้อที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานในผู้ประกอบอาชีพผลิตธูป. พยาบาลสาร, 40(ฉบับพิเศษ), 108-119.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-02-05