ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์: การศึกษาแบบย้อนหลัง

ผู้แต่ง

  • เพชรารัตน์ สินธุโคตร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • เลิศชัย เจริญธัญรักษ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบ Unmatched Case-Control เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ กลุ่มตัวอย่างได้จากการคำนวณขนาดตัวอย่าง 248 คน แบ่งเป็นกลุ่มศึกษา คือ พยาบาลวิชาชีพที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 124 คน และกลุ่มควบคุม คือ พยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 124 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ด้วยสถิติถดถอยพหุลอจิสติก (Multiple Logistic Regression) นำเสนอขนาดความสัมพันธ์ด้วยค่า Adjusted odds ratio (ORadj) และช่วงความเชื่อมั่น 95%

ผลการศึกษา พบว่า มีหลายปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ของพยาบาลวิชาชีพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05) ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ผ่านสื่อต่างๆ (ORadj= 2.63; 95% CI: 1.10-6.24) พยาบาลวิชาชีพไม่เห็นด้วยกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (ORadj=3.03; 95% CI: 1.16-13.29) พยาบาลวิชาชีพเห็นว่าการจัดสรรจำนวนวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ไม่เพียงพอต่อความต้องการและจำนวนของบุคลากร (ORadj=4.65; 95% CI: 2.10-10.28) พยาบาลวิชาชีพไม่มีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ (ORadj=2.27 ; 95% CI: 0.20-0.93)

ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดสรรจำนวนวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้เพียงพอต่อความต้องการและการแจ้งข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ โดยส่งหนังสือแจ้งเวียนไปยังพยาบาลวิชาชีพทุกคนจะทำให้ได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พยาบาลวิชาชีพเห็นประโยชน์ของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่จึงควรกำหนดให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นนโยบายของโรงพยาบาล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-19