พฤติกรรมการบริโภคอาหารและภาวะโภชนาการของวัยแรงงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • วรางคณา บุญยงค์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • สุวลี โล่วิรกรณ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

วัยแรงงานในโรงงาน, พฤติกรรมการบริโภค, ภาวะโภชนาการ

บทคัดย่อ

 

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-Sectional Descriptive Study) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และภาวะโภชนาการของวัยแรงงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือ วัยแรงงาน 253 คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) เก็บรวบรวบข้อมูลจากการใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์การบริโภคอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา แสดงผลเป็นจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ได้รับด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป INMUCAL Version.3.0

ผลการศึกษา พบว่า วัยแรงงานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 20–40 ปี มีค่าดัชนีมวลกายเฉลี่ย 22.58 กิโลกรัม/เมตร2 (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 4.00) ภาวะโภชนาการอยู่ในระดับปกติ ร้อยละ 52.17 โดยวัยแรงงานหญิงมีภาวะอ้วนลงพุงมากกว่าเพศชาย เมื่อเทียบจากค่าสัดส่วนเส้นรอบเอวต่อสะโพก มีความรู้ทางด้านโภชนาการและทัศนคติในการบริโภคอาหารโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนการบริโภคอาหารของวัยแรงงานส่วนใหญ่บริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อ ร้อย ละ 91.30 โดยชนิดอาหารที่บริโภคส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียวกับอาหารอีสาน และรับประทานผักและผลไม้เป็นหลัก ซึ่งทำเองในมื้อเช้าและมื้อเย็น ส่วนมื้อกลางวันซื้อจากร้านค้าในโรงงาน สำหรับปริมาณพลังงานที่วัยแรงงานได้รับมีค่ามัธยฐานเท่ากับ 1,297.88 กิโลแคลอรีต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 71.38 ของปริมาณพลังงานที่ควรได้รับ โปรตีนที่ได้รับมีค่ามัธยฐานเท่ากับ 47.34 กรัม คิดเป็นร้อยละ 89.14 ของโปรตีนที่ควรได้รับ คาร์โบไฮเดรตและไขมันที่ได้รับมีค่ามัธยฐานเท่ากับ 221.95 และ 23.05 กรัมต่อวัน และวัยแรงงานได้รับปริมาณเกลือแร่และวิตามิน เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แมกนีเซียม สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี ไนอะซิน และวิตามินอี ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย (<2/3 DRI) เมื่อเทียบกับค่า Thai DRI

ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมความรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคอาหาร รวมทั้งการดูแลสุขภาพให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ทำให้วัยแรงงานสามารถก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีในอนาคต

 

Author Biography

วรางคณา บุญยงค์, คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นางสาววรางคณา บุญยงค์
คณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาโภชนศาสตร์เพื่อสุขภาพ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-19