การพัฒนาการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย
บทคัดย่อ
การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น เน้นให้ประชาชนและท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ในการ
พัฒนาคุณภาพบริการ ด้านการจัดบริการสุขภาพโดยชุมชน ส่งผลต่อพัฒนาการระบบสุขภาพของประชาชน การวิจัยครั้งนี้เป็นการ
วิจัยปฏิบัติการ มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาพัฒนาการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น โดยมีขั้นตอนการวิจัย
เป็นลักษณะวงรอบ ประกอบด้วย การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกตและการสะท้อนผล คัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้เทคนิคการ
สุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย
คณะกรรมการและอนุกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น จำนวน 49 คน เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้
แบบสอบถามที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92 และข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้แบบสัมภาษณ์ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง
เดือนตุลาคม 2551 ถึง เมษายน 2552 กิจกรรมการพัฒนาประกอบด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยใช้เทคนิคกระบวนการ
วางแผนแบบมีส่วนร่วม A-I-C การพัฒนาศักยภาพ การศึกษาดูงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการนิเทศ ติดตามสนับสนุนเป็น
เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมุติฐาน คือ Paired t – test
ผลการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น โดยรวมและรายด้านทุกด้าน มีระดับการดำเนินงานหลังการ
พัฒนา ดีขึ้นกว่าก่อนการพัฒนา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยหลังการพัฒนามีระดับการดำเนินงาน โดยรวมและราย
ด้านทุกด้านส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 2.48 (S.D.= 0.22) ได้แก่ ด้านการสนับสนุนติดตาม กำกับ ประเมินผล ด้านการ
ให้บริการตามขอบข่ายงานของกองทุนฯ และด้านการจัดทำแผนงานโครงการ มีค่าเฉลี่ย 2.68 (S.D.= 0.26), 2.65 (S.D.= 0.34) และ
2.64 (S.D.= 0.27) ตามลำดับ ส่วนด้านที่ยังเป็นปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการ ได้แก่ ด้านการรับรู้การดำเนินงานของ
กองทุนฯ ซึ่งยังขาดการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ด้านการบริหารงบประมาณในการจัดทำบัญชีการเงิน ด้านรายงานข้อมูล
ข่าวสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และด้านการสมทบงบประมาณจากภาคประชาชนยังมีน้อยมาก มีค่าเฉลี่ย 2.50 (S.D.= 0.37), 2.44
(S.D.= 0.31), 2.31 (S.D.= 0.34) และ 1.99 (S.D.= 0.51) ตามลำดับ
โดยสรุป รูปแบบการพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม
การประชุมเชิงปฏิบัติการโดยใช้เทคนิคกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม A-I-C การพัฒนาศักยภาพ การศึกษาดูงาน
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการนิเทศ ติดตามสนับสนุน ส่งผลทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น มีการพัฒนาและ
เปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ดีขึ้น ดังนั้นควรจะนำรูปแบบการพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นครั้งนี้
ไปปรับประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นแห่งอื่นๆ ต่อไป