พฤติกรรมการบริโภคอาหารและภาวะโภชนาการของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอเมืองไชยเชษฐา นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว

ผู้แต่ง

  • วาสนา พัวปัญญา
  • บุญถม เเพงดี
  • คำเส็ง พิลาวง

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการบริโภคอาหาร, ภาวะโภชนาการ, ความรู้, ทัศนคติ, นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพรรณนาพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ประเมินภาวะโภชนาการ
และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และทัศนคติต่อการบริโภคอาหารกับภาวะโภชนาการของนักเรียน
มัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอเมืองไชยเชษฐา นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
(สปป.ลาว) จำนวน 203 คน เก็บข้อมูลเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2558 วิเคราะห์ผลโดยใช้สถิติพรรณนา แสดงค่า
จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด และวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้สถิติ
ทดสอบสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมน (Spearman’s rank correlation coefficient test)
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.7 บริโภคอาหาร 3 มื้อต่อวัน และรับประทาน
อาหารมื้อเช้า มื้อเที่ยง และมื้อเย็น ร้อยละ 94.6, 100.0 และ 97.0 ตามลำดับ โดยร้อยละ 39.9 พิจารณา
ความสะอาดของอาหารในการเลือกอาหารรับประทาน นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีระดับความรู้การบริโภคสูง
ปานกลาง และต่ำ เท่ากับร้อยละ 39.9, 54.2, และ 5.1 ตามลำดับ ส่วนระดับทัศนคติต่อการบริโภคอาหาร
พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 72.9 และระดับสูง ร้อยละ 27.1 ตามลำดับ
ผลการประเมินภาวะโภชนาการโดยใช้ค่า BMI for age พบว่า นักเรียนร้อยละ 53.2 มีรูปร่างสม
ส่วน (BMI for age=18.5-22.99 kg/m2) ร้อยละ 34.0 มีรูปร่างผอม (BMI for age <18.5 kg/m2) และร้อยละ
12.8 มีรูปร่างอวบ/อ้วน (BMI for age ≥ 23.0 kg/m2) ทั้งนี้ร้อยละ 65.0 ของนักเรียนมีความพอใจในรูปร่าง
ของตน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และทัศนคติต่อการบริโภคอาหาร กับภาวะโภชนาการ
พบว่า ความรู้และทัศนคติต่อการบริโภคอาหารไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์
สหสัมพันธ์สเปียร์แมนเท่ากับ 0.0434 (p-value>0.05) และ -0.0245 (p-value>0.05) ตามลำดับ
กล่าวโดยสรุป แม้ว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความรู้และทัศนคติต่อการบริโภคอาหารระดับปานกลาง
และสูง แต่ยังมีนักเรียนหนึ่งในสามมีภาวะผอม และอีกหนึ่งในสิบมีภาวะอวบ/อ้วน ชี้ว่า สปป.ลาว กำลัง
เผชิญปัญหาทั้งภาวะโภชนาการขาดและภาวะโภชนาการเกิน ดังนั้น สปป.ลาว โดยกระทรวงสาธารณสุข
ร่วมกับโรงเรียนควรมีมาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ในการสร้างความเข้าใจ และรับรู้ต่อรูปร่างของตนที่
เหมาะสม ตลอดจนการบริโภคอาหารและพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องเพื่อให้มีภาวะโภชนาการที่ดีต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-07-07