การพัฒนาระบบคัดกรองธาลัสซีเมีย: รูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
คำสำคัญ:
การพัฒนาระบบคัดกรอง, การมีส่วนร่วมของชุมชน, อาสาสมัครสาธารณสุขบ้าน (อสบ.), ธาลัสซีเมีย, ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)บทคัดย่อ
ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความชุกธาลัสซีเมียสูง ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินงานป้องกันโรคในประเทศ การ
ดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคเลือดจางธาลัสซีเมียต้องการปัจจัยสนับสนุนหลายประการ และปัจจัยหนึ่งที่
ควรได้รับการพัฒนาเป็นอันดับแรก คือ ความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์
เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินงานคัดกรองธาลัสซีเมียระดับชุมชนใน สปป.ลาว โดยดำเนินงานนำร่องใน
6 หมู่บ้าน อำเภอแก้วอุดม แขวงเวียงจันทน์ ใช้รูปแบบให้ชุมชนมีส่วนร่วมโดยประชาสัมพันธ์ผ่านสหพันธ์แม่
หญิงลาวบ้าน ดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัย 1 แห่ง และ
อาสาสมัครสาธารณสุขบ้าน (อสบ.) ทั้ง 6 หมู่บ้าน จากนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับ อสบ. ทำหน้าที่ให้
ความรู้แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ในชุมชน ประเมินผลการดำเนินงานจากการเข้ารับการคัดกรองธาลัสซีเมียในหญิง
วัยเจริญพันธุ์กลุ่มเป้าหมายที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 152 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา
และสถิติเชิงอนุมาน แสดงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความรู้และทัศนคติ
ก่อนและหลังการอบรมโดยใช้สถิติ Wilcoxon sign-ranked test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
จากการประเมินความรู้ต่อโรคธาลัสซีเมียก่อนอบรมพบว่า จากคะแนนเต็ม 8 คะแนน เจ้าหน้าที่
สาธารณสุข และ อสบ. มีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้เท่ากับ 5.0 (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.9) และ 4.2
(ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.4) ตามลำดับ หลังการอบรมมีค่าคะแนนเฉลี่ยความรู้เพิ่มขึ้นเป็น 7.0 (ส่วน
เบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.5) และ 6.7 (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.5) ตามลำดับ จากหญิงวัยเจริญพันธุ์
ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 152 ราย มีผู้เข้ารับการคัดกรองธาลัสซีเมีย จำนวน 114 ราย (ร้อยละ 75.0) ผลการศึกษา
แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาระบบคัดกรองธาลัสซีเมียระดับชุมชนใน สปป.ลาว มีความเป็นไปได้สูง