ความชุกของการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วในมารดาคลอดทารกก่อนกำหนด ในประเทศไทย: วิเคราะห์ในฐานข้อมูล

ผู้แต่ง

  • ผดารณัช พลไชยมาตย์
  • มาลินี เหล่าไพบูลย์

คำสำคัญ:

คลอดก่อนกำหนด, การเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว

บทคัดย่อ

ทารกคลอดก่อนกำหนดมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า การเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว
จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่ง
สหประชาชาติสนับสนุนให้มารดาและทารก ได้สัมผัสกันเร็วที่สุด เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที และให้ทารกได้
ดูดนมมารดาภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความชุกของการเริ่มต้นเลี้ยงลูก
ด้วยนมแม่เร็วในมารดาคลอดทารกก่อนกำหนด และจำแนกตามลักษณะด้านประชากร สุขภาพของมารดา
และทารก และลักษณะสถานพยาบาล
การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ในมารดาที่คลอดทารกเดี่ยวมีชีพ อายุครรภ์ระหว่าง 22-36
สัปดาห์ จากข้อมูลโครงการ WHO Global Survey on Maternal and Perinatal Health ในสถานพยาบาล
12 แห่งของประเทศไทย ที่มีการรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.
2551 ข้อมูลที่นำออกจากการศึกษาคือ มารดาหรือทารกติดเชื้อ HIV ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 500
กรัม วิเคราะห์อัตราความชุกของการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว จากข้อมูลจำนวนทั้งสิ้น 1,029 คน และ
อธิบายปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วในมารดาคลอดทารกก่อนกำหนดโดยใช้
Multilevel logistic regression model ที่มีการปรับผลกระทบของลำดับชั้นข้อมูลในระดับสถานพยาบาล
ผลการศึกษาพบว่า ความชุกของการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วในมารดาคลอดทารกก่อน
กำหนดมีประมาณ 34.1% (95% confidence interval [CI]=29.6%–38.7%) และมีความแตกต่างกันใน
แต่ละสถานพยาบาลสูงมาก โดยมีความชุกดังกล่าวอยู่ระหว่าง 1.4% ถึง 87.5% และจังหวัดศรีษะเกษมีค่า
ความชุกการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วมากที่สุด 62.1% (95% CI=57.8%-66.3%) และน้อยที่สุดใน
กรุงเทพมหานคร 17.0% (95% CI=12.5%-21.6%) นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยที่มีความสำคัญเชิงอุปสรรค
ต่อการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว ประกอบด้วยทารกเข้ารับการดูแลพิเศษไอซียูเด็ก ทารกมีน้ำหนักแรกเกิด
น้อย มารดาไม่ได้คลอดปกติทางช่องคลอด และมารดาที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเขตเมือง
ผลจากการศึกษาแสดงให้ทราบว่า มารดาคลอดทารกก่อนกำหนด มีการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เร็วต่ำเพียง1 ใน 3 และแตกต่างกันสูงมากในสถานพยาบาลจาก 3 จังหวัดของประเทศไทย ดังนั้นควรมีการ
กำหนดเป้าหมายส่งเสริมการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาคลอดทารกก่อนกำหนดที่ชัดเจน และ
โดยเฉพาะในสถานพยาบาลที่มีค่าความชุกการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วต่ำ ควรเร่งให้มีการรณรงค์ให้
ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์และครอบครัวเกี่ยวกับความสำคัญของการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว และใน
สถานพยาบาลดังกล่าวควรมีมาตรการ การดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อช่วยเหลือมารดาคลอดทารกก่อนกำหนดให้
เริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-07-07