บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในทีมหมอครอบครัว
คำสำคัญ:
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน, ทีมหมอครอบครัว, บทบาทบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทในทีมหมอครอบครัวของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ
หมู่บ้าน (อสม.) ในช่วงปีงบประมาณ 2558 ใช้รูปแบบวิธีการวิจัยแบบผสม (Mixed Methods Research)
เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data) และเชิงคุณภาพ (Qualitative data) กลุ่มตัวอย่างได้แก่
อสม. จำนวน 967 คน จาก 4 ภูมิภาคๆ ละ 2 จังหวัด รวม 8 จังหวัด โดยใช้แบบสอบถาม และกลุ่มเครือข่าย
สุขภาพภาคประชาชน จำนวน 4 ภูมิภาค 8 จังหวัด รวมจำนวน 160 คน เก็บข้อมูลโดยวิธีการสนทนากลุ่ม
วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา พบว่า อสม. มีบทบาทในทีมหมอครอบครัวเด่นชัดที่สุดในการเป็นแบบอย่างที่ดีด้าน
พฤติกรรมสุขภาพ ร้อยละ 20.5 รองลงมาได้แก่ การสำรวจข้อมูลฯ ร้อยละ 17.7 การจัดทำข้อมูลฯ ร้อยละ
14.5 การทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3 อ. 2 ส. ตามกลุ่มวัย ร้อยละ 14.2 บทบาทของ อสม.
ในทีมหมอครอบครัวที่ต้องปรับปรุง ได้แก่ การเป็นแกนนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ร้อยละ 3.9
รองลงมาได้แก่ การคิดค้นกลวิธี/กิจกรรมรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคฯ ร้อยละ 2.3 และ
การมีส่วนในความร่วมมือกับเครือข่ายบริการสาธารณสุข/ทีมหมอครอบครัวในการเยี่ยมบ้านและดูแลผู้ป่วยที่
นอนที่บ้าน/การส่งต่อผู้ป่วย ร้อยละ 1.0 ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า กลุ่มเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชนมี
ทัศนคติทางบวกต่อบทบาทของ อสม. ในทีมหมอครอบครัวในทุกพื้นที่ ทั้งบทบาทด้านการประสานงาน การ
จัดเตรียมข้อมูลในพื้นที่ ความเสียสละทุ่มเท การถ่ายทอดความรู้และทักษะเฉพาะในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งการ
สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ ผลจากการศึกษาจึงควรใช้โอกาสที่ อสม. ได้มีประสบการณ์ตรง
ในการทำงานดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุร่วมกับทีมหมอครอบครัวมาใช้ประโยชน์ด้วยการส่งเสริมการ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยทำให้ อสม. เกิดทักษะการทำงาน
เชิงป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งนำประสบการณ์เหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาแผนงาน/โครงการเพื่อ
ส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป