การบาดเจ็บซ้ำซากในพนักงานอุตสาหกรรมแกะสลักหิน จังหวัดชลบุรี
คำสำคัญ:
การบาดเจ็บซํ้าซาก, พนักงานอุตสาหกรรมแกะสลักหิน, ความชุกบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็ นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional descriptive
research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราความชุกและความรุนแรงของ RSIs ในพนักงาน
อุตสาหกรรมแกะสลักหิน จังหวัดชลบุรี จำนวน 82 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมี
โครงสร้าง และแบบสังเกตการณ์ทำงาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาเพื่ออธิบาย
คุณลักษณะประชากร และสภาพแวดล้อมการทำงาน และแสดงค่าอัตราความชุกกับช่วงความ
เชื่อมั่นที่ 95% ผลการวิจัยพบว่า พนักงานอุตสาหกรรมแกะสลักหินส่วนใหญ่เป็นเพศชาย
ร้อยละ 64.6 อายุระหว่าง 31-40 ปี ร้อยละ 40.2 (Mean=40.8, S.D.=8.8) อายุการทำงาน
6-10 ปี ร้อยละ 32.9 (Median=14, Min=1, Max=40) ด้านลักษณะงาน พบว่า ส่วนใหญ่เป็น
งานทำครก (ร้อยละ 79.3) และปฏิบัติงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน ร้อยละ 79.3 (Median=8,
Min=8, Max=12) ด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน พบว่า ระดับหน้างานต่ำกว่าข้อศอก (ร้อยละ
78.1) ทำงานซ้ำซาก (ร้อยละ 85.4) ต้องใช้สายตาเพ่งชิ้นงาน (ร้อยละ 87.8) โดยพบว่า
มีสิ่งแวดล้อมการทำงาน คือ ฝุ่นละออง/สารเคมี และอากาศร้อนอบอ้าว แสงสว่างไม่เพียงพอ
และสัมผัสแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องมือ คือ ค้อน และเครื่องเจียร ร้อยละ 96.3 และร้อยละ
65.9 ตามลำดับ โดยน้ำหนักหินที่ยกเฉลี่ยต่อครั้ง >10 กิโลกรัม ร้อยละ 47.9 ( Median=9,
Min=3, Max=20) พบความชุกของ RSIs เมื่อพิจารณาทุกตำแหน่ง ในรอบ 7 วัน และ 6 เดือน
ที่ผ่านมา คือ ร้อยละ 37.8 (95%CI=27.32–49.19) และร้อยละ 51.2 (95%CI=39.92–
62.42) ตามลำดับ ตำแหน่งที่มีระดับความชุกของ RSIs สูงสุด 3 อันดับแรก คือ หลังส่วนล่าง
(ร้อยละ 26.2) มือ/ข้อมือ (ร้อยละ 20.2) และไหล่ (ร้อยละ 13.7) โดยตำแหน่งที่มีอาการ
ปวดรุนแรงตั้งแต่ระดับมากขึ้นไปสูงสุด 3 อันดับแรก คือ หลังส่วนล่าง (ร้อยละ 19.5)
รองลงมามือ/ข้อมือ (ร้อยละ 11.0) และแขนท่อนบน (ร้อยละ 7.3) ส่วนความถี่ของการมี
อาการปวดตั้งแต่บ่อยครั้งขึ้นไปสูงสุด 3 อันดับแรก คือ หลังส่วนล่าง รองลงมามือ/ข้อมือ และ
ไหล่ ร้อยละ 31.7, 17.1 และ 9.8 ตามลำดับ การศึกษานี้พบความชุกและความรุนแรงสูงสุด
ของการบาดเจ็บซ้ำซากในตำแหน่งหลังส่วนล่าง และรองลงมาคือ มือ/ข้อมือ ซึ่งอาจสอดคล้อง
กับลักษณะงานที่มีการใช้แรงมือและข้อมือขณะทำงานซ้ำซาก ระดับหน้างานไม่เหมาะสม และ
การยกของหนักซ้ำๆ ที่เสี่ยงต่อการปวดหลังของพนักงาน รวมถึงมือ/ข้อมือ ข้อมูลดังกล่าวมี
ประโยชน์ต่อการศึกษาปัจจัยเสี่ยงจากการทำงานต่อการเกิด RSIs และการเฝ้ าระวังโรคด้าน
ระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อจากการทำงานในพนักงานกลุ่มนี้ต่อไป