การพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบมีส่วนร่วม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
คำสำคัญ:
ระบบส่งต่อผู้ป่วย, การมีส่วนร่วมและวงจรคุณภาพของเดมมิ่งบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi – Experimental Research) แบบกลุ่มเดียววัด 2 ครั้ง (One Group
Pretest-Posttest Design) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยประยุกต์ใช้
กระบวนการ A-I-C (Appreciation–Influence–Control) และวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง PDCA (Plan–Do–Check–Act) กลุ่มตัวอย่าง
สุ่มแบบเจาะจง จำนวน 33 คน จัดโปรแกรมในการวิจัยจำนวน 12 สัปดาห์ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามผลการปฏิบัติงาน
และความพึงพอใจของบุคลากรต่อระบบส่งต่อผู้ป่วย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบน
มาตรฐาน และการทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย คือ Paired t–test
ผลการวิจัย พบว่า หลังพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบมีส่วนร่วม ส่วนใหญ่มีผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับดี เปรียบเทียบ
ความแตกต่างของผลการปฏิบัติงานระบบส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งประกอบด้วยผลการปฏิบัติงานด้านโครงสร้างการดำเนินงาน ด้าน
การสนับสนุนทรัพยากร ด้านการประสานงาน ด้านการปฏิบัติ ด้านการประเมินผลและผลลัพธ์ และผลการปฏิบัติงานโดยรวม
ก่อนและหลังการทดลอง พบว่า ภายหลังการทดลอง มีค่าเฉลี่ยผลการปฏิบัติงานมากกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่ระดับ 0.05 หลังพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบมีส่วนร่วม พบว่า บุคลากรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อระบบส่งต่อผู้ป่วยอยู่ใน
ระดับดีเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจต่อระบบส่งต่อผู้ป่วยของบุคลากรก่อนและหลังการทดลอง พบว่า ภายหลัง
การทดลอง มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจมากกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
โดยสรุป การประยุกต์ใช้กระบวนการ A-I-C และวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (PDCA) มาใช้ในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนา
ระบบส่งต่อผู้ป่วย ทำให้มีผลการปฏิบัติงานดีขึ้น บุคลากรสาธารณสุขได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำให้ เข้าใจสภาพปัญหา และ
มีส่วนร่วมในการวางแผนแก้ไข ดังนั้นกระบวนการ A-I-C จึงสามารถประยุกต์ใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหา และพัฒนางาน
สาธารณสุขได้ในทางปฏิบัติต่อไป