การใช้การวิเคราะห์ถดถอยปัวส์ซองเพื่อหาปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณการสูบบุหรี่ ของบุคลากรสาธารณสุข ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
คำสำคัญ:
ปริมาณการสูบบุหรี่, สปป.ลาว, บุคลากรสาธารณสุขและการถดถอยปัวส์ซองบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อปริมาณการสูบบุหรี่ต่อวันของ
บุคลากรสาธารณสุข ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง Smoking
Behavior and Tobacco Control among Medical Doctor in Lao PDR ของ Phengsavanh et al. (2008) จำนวนตัวอย่างทั้งหมด
855 ราย สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ การถดถอยปัวส์ซอง (ตัวแปรตามมีลักษณะข้อมูลแบบจำนวนนับ) โดยในกรณีที่พบว่า
ตัวแปรตามมีค่าความแปรปรวนมากกว่าค่าเฉลี่ย จะใช้การวิเคราะห์ถดถอยทวินามแบบลบ ส่วนกรณีที่ตัวแปรตามมีค่า
ความแปรปรวนมากกว่าค่าเฉลี่ยและมีค่าเป็นศูนย์จำนวนมาก จะใช้การวิเคราะห์ถดถอยปัวส์ซองที่มีศูนย์มากและมีผลการศึกษา
ดังนี้
เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่สูบบุหรี่ในปัจจุบัน (79 ราย) ผลจากการวิเคราะห์ถดถอยทวินามแบบลบ พบว่า บุคลากรกลุ่มนี้
จะมีปริมาณการสูบบุหรี่มากขึ้น ในกรณีที่เป็นคนแต่งงานแล้ว (IRR=1.77; 95%CI: 1.09-2.86) ในชีวิตเคยสูบบุหรี่ถึง 100 มวน
(IRR=2.07; 95%CI: 1.34-3.19) ผู้ที่จ่ายเงินซื้อบุหรี่ต่อสัปดาห์มากกว่า 10,000 กีบ (IRR=1.73; 95%CI: 1.42-2.09) และผู้ที่เคย
ได้รับคำแนะนำให้เลิกบุหรี่ (IRR=1.24; 95%CI: 1.00-1.51) ในขณะที่บุคลากรที่มีทัศนคติทางบวกกับการสูบบุหรี่จะมีปริมาณ
การสูบบุหรี่ลดลง (IRR=0.60; 95%CI: 0.41-0.86)
เมื่อพิจารณาในตัวอย่างทั้งหมด 855 คน ผลจากการวิเคราะห์ถดถอยปัวส์ซองที่มีศูนย์มาก พบว่า ปริมาณการสูบบุหรี่ของ
บุคลากรที่มีปริมาณการสูบบุหรี่ต่อวันมากกว่า 0 มวนจะเพิ่มขึ้น กรณีเป็นคนอายุมากกว่า 40 ปี (IRR=1.25; 95%CI: 1.06-1.48)
แต่งงานแล้ว (IRR=2.51; 95%CI: 1.59-3.94) เป็นชนเผ่าลาว (IRR=1.47; 95%CI: 1.06-2.01) และมีทัศนคติทางลบกับ
การสูบบุหรี่ (IRR=1.78; 95%CI: 1.28-2.50)
ดังนั้นจากผลการศึกษาบ่งชี้ได้ว่า แนวทางเพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ให้ถูกต้องยังเป็นสิ่งที่จำเป็น
สำหรับบุคลากรกลุ่มนี้