การตัดสินใจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรีอายุ 35 – 60 ปี ในเขตเทศบาล อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • นันทิราภรณ์ ถิ่นลออ
  • จิราพร เขียวอยู่

คำสำคัญ:

การตัดสินใจ, ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและจังหวัดกาฬสินธุ์

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบศึกษาย้อนหลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจ
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรีที่มีอายุ 35-60 ปี ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์สุขภาพชุมชนสาขา 2 โรงพยาบาลกาฬสินธุ์
กลุ่มศึกษา คือ สตรีที่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกใน 5 ปี ที่ผ่านมา จำนวน 100 คน และกลุ่มเปรียบเทียบ คือ สตรีที่ไม่เคย
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกใน 5 ปีที่ผ่านมา จำนวน 100 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์โดยตรงตามแบบสอบถาม
แบบมีโครงสร้าง วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ กับการตัดสินใจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการวิเคราะห์
ถดถอยพหุลอจิสติกแบบขจัดออกทีละตัวแปร
ผลการศึกษา พบว่า การมีอาการผิดปกติทางช่องคลอด ความไม่อายต่อการตรวจ และเวลาว่างในการมาตรวจคัดกรอง
มะเร็งปากมดลูก มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสตรีกลุ่มตัวอย่างที่มี
อาการผิดปกติทางช่องคลอดจะตัดสินใจมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากเป็น 3.49 เท่าของสตรีที่ไม่มีอาการผิดปกติทาง
ช่องคลอด (95%CI เท่ากับ 1.62 ถึง 7.52) ในสตรีที่ไม่อายจะตัดสินใจไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากเป็น 6.54 เท่าของสตรี
ที่อาย (95%CI เท่ากับ 3.25 ถึง 13.16) ส่วนสตรีที่มีเวลาว่างในการมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะตัดสินใจไปตรวจคัดกรอง
มะเร็งปากมดลูกมากเป็น 21.88 เท่าของสตรีที่ไม่มีเวลาว่างในการมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (95%CI เท่ากับ 5.67 ถึง
84.57) การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆกับการตัดสินใจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกใน 1 ปีข้างหน้าของสตรี
กลุ่มที่ไม่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกใน 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีเพียงตัวแปรเวลาว่างในการมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสตรีที่มีเวลาว่างในการมาตรวจ
คัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะตัดสินใจไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกใน 1 ปีข้างหน้ามากเป็น 5.01 เท่าของสตรีที่ไม่มีเวลาว่างใน
การมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (95%CI เท่ากับ 1.91 ถึง 13.17)
ผลจากการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สตรีกลุ่มเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในเรื่อง ความอายต่อ
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและความเสี่ยงของการไม่ตรวจ หรือไปรับการตรวจที่ล่าช้า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรพิจารณา
จัดเวลาในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ตรงกับความต้องการของสตรีในชุมชน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-04-11