ผลของการให้โภชนศึกษาในการส่งเสริมการบริโภคอาหารของบุคลากรสายสนับสนุน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คำสำคัญ:
โภชนศึกษา, แบบแผนการบริโภคอาหาร, อาหารบุคคลากรสายสนับสนุนบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีรูปแบบการศึกษาแบบ pretest- posttest วัตถุประสงค์เพื่อให้โภชนศึกษาแก่บุคลากรสายสนับสนุน โดยประเมิน
ความรู้ แบบแผนการบริโภค และภาวะโภชนาการก่อนและหลังการศึกษา ในการศึกษามีกิจกรรมการให้ความรู้ในเรื่องการบริโภคอาหาร
ที่ส่งเสริมสุขภาพ การประเมินโภชนาการตนเอง การบริโภคพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และมีการประกวดอาหาร เดือนๆละ 1 ครั้งรวมเป็น
เวลา 8 เดือน ในการศึกษาเก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถาม ความรู้ ความถี่การบริโภคอาหาร แบบแผนการบริโภคอาหาร และการออก
กำลังกาย ภาวะโภชนาการ และศึกษาพลังงานและสารอาหารเฉลี่ยต่อวัน จากการสอบถามย้อนหลัง 24 ชั่วโมงในวันทำงาน 2 วัน และ
วันหยุด 1 วัน การศึกษานี้มีบุคลากรสายสนับสนุนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 31 คน (ร้อยละ68.9) จากจำนวน 45 คน และวิเคราะห์ข้อมูล
เป็นร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน มัธยฐาน ควอไทล์ที่ 1และ 3 และpair t-test เพื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรม
ผลการศึกษาพบว่า บุคลากรสายสนับสนุนเป็นชายร้อยละ 41.9 และหญิง ร้อยละ 58.1 และอายุระหว่าง 31-40 ปี ร้อยละ 45.1
เมื่อประเมินความรู้ทางโภชนาการพบว่าบุคลากรมีความรู้เฉลี่ยก่อนการศึกษาเท่ากับ 17.13 และมีความรู้เพิ่มขึ้นเป็น 20.84 ซึ่งแตกต่าง
กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบว่ามีความรู้ในเรื่องประโยชน์ของสารอาหารและความปลอดภัย แต่มีบุคลากรบางคนที่ยังมีความรู้
น้อยในประเด็นแหล่งอาหารโคเลสเตอรอล และอาหารเสริมสุขภาพที่ดีที่สุด ส่วนแบบแผนการบริโภคอาหาร ส่วนใหญ่บริโภคอาหาร 3
มื้อ และบริโภคแตกต่างกัน โดยบริโภควันหยุดมากกว่าวันทำงาน ทั้งก่อนและหลังการศึกษา บุคลากรที่มีการออกกำลังกายทั้งก่อนและ
หลังการศึกษาร้อยละ 61.3 ในด้านความถี่ในการบริโภคอาหาร พบว่าบุคลากรจะบริโภคผักและผลไม้เกือบทุกวัน ส่วนใหญ่ไม่บริโภคข้าว
กล้อง นม อาหารผัด ทอด ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ บริโภคอาหารดิบ ดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มชูกำลังน้อย แต่บริโภคอาหารที่
ใส่ผงชูรสเป็นประจำ ส่วนน้ำหวานและน้ำอัดลมจะดื่ม 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ในด้านพลังงานและสารอาหาร บุคลากรได้รับพลังงานร้อยละ
91.2 ของความต้องการอ้างอิง และลดลงเป็นร้อยละ 78.5 หลังการศึกษา สำหรับสัดส่วนของพลังงานที่ได้รับจากคาร์โบไฮเดรต : ไขมัน :
โปรตีน ทั้งก่อนและหลังการศึกษา ร้อยละ 57 : 24 : 17 ส่วนภาวะโภชนาการนั้น พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก่อนและหลังการศึกษาเป็น
ร้อยละ 45.2 และ 42.0 ตามลำดับ ผู้ที่มีภาวะโภชนาการเสี่ยงต่อโรคอ้วนจากเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.7เป็นร้อยละ16.1และภาวะอ้วนลดลง
จากร้อยละ 32.2 เป็นร้อยละ29.0 สำหรับผู้ที่มีเส้นรอบเอวมากกว่าปกติก่อนและหลังการศึกษาเท่ากับร้อยละ 29.0 และ 22.6 ตามลำดับ
ดังนั้นควรมีการส่งเสริมการบริโภคอาหารสำหรับบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รู้จักเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณภาพต่อสุขภาพ
ควบคู่กับการออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อให้มีภาวะโภชนาการอยู่ในเกณฑ์ปกติ