พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มส่งเสริมสุขภาพของนักศึกษา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • กฤษฎา กุลกระจ่าง
  • สุวลี โล่วิรกรณ์

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่ม, เครื่องดื่มส่งเสริมสุขภาพ, นักศึกษาพยาบาล

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพรรณนานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มส่งเสริมสุขภาพของนักศึกษาพยาบาล กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือ นักศึกษาพยาบาล ชั้นปีที่ 1–4 จำนวน 215 คน โดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน รวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และการสัมภาษณ์เจาะลึกตัวแทนคณะกรรมบริหาร นักศึกษา และเจ้าของร้านค้า รวม 12 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด-ค่าสูงสุด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 91.6 อายุเฉลี่ย 20.1 ปี มีภาวะโภชนาการ (จากค่าดัชนีมวลกาย) ปกติ ร้อยละ 60.9 ผอม ร้อยละ 31.2 มีค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มส่งเสริมสุขภาพโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 25 บาท/วัน ร้อยละ 61.9 ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเครื่องดื่มส่งเสริมสุขภาพทางโทรทัศน์ ร้อยละ 89.3 และเลือกบริโภคด้วยตนเอง ร้อยละ 92.7 นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มส่งเสริมสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 74.0 ส่วนทัศนคติต่อการบริโภคเครื่องดื่มส่งเสริมสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 90.7 การบริโภคเครื่องดื่ม 3 อันดับแรก คือ นม น้ำผลไม้/น้ำผักสำเร็จรูป และนมเปรี้ยว ดื่ม 1–2 ครั้ง/สัปดาห์ ด้านปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ได้รับประจำวัน นักศึกษาได้รับพลังงานเฉลี่ย 1,807.7 กิโลแคลอรี่ การกระจายพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ร้อยละ 54.6 ,16.2 และ 29.1 โดยปริมาณพลังงานที่ได้รับจากเครื่องดื่มทั้งหมดมีค่ามัธยฐาน 204.0 กิโลแคลอรี่ และสารอาหารส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 13.9 ของคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับจากอาหารทั้งหมด เกลือแร่ที่ได้รับมากที่สุด คือ แคลเซียม ร้อยละ 25.5 ของแคลเซียมที่ได้รับจากอาหารทั้งหมด วิตามินส่วนใหญ่ที่ได้รับ คือ วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 ร้อยละ 50.8 และ 34.0 ของวิตามินที่ได้รับจากอาหารทั้งหมด ดังนั้น ควรส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้และทัศนคติรวมทั้งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องด้านโภชนาการเกี่ยวกับเครื่องดื่ม ได้แก่ การบริโภคนมไขมันต่ำ เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำผลไม้/น้ำผักคั่นสด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-04-03

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ