การตกค้างของสารเคมีฆ่าแมลงในผักพื้นบ้านอีสานและอาหารท้องถิ่น
คำสำคัญ:
สารเคมีฆ่าแมลง, ผักพื้นบ้านอีสาน, อาหารท้องถิ่นบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive study) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการตกค้าง
ของสารเคมีฆ่าแมลงกลุ่ม Organophosphate และ Carbamateในผักพื้นบ้านอีสานและอาหารท้องถิ่นและ
สอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความกังวลในความปลอดภัยของผักพื้นบ้านอีสานและอาหาร
ท้องถิ่น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างพืชและสัตว์รอบแปลงปลูกพืชที่ใช้สารเคมีฆ่าแมลงในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสาน
ตอนล่าง ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ ใบย่านาง ผักขะแยง
จิ้งหรีด ตั๊กแตน ปูนา ปลา และตัวอ่อนของแมลงปอ ชนิดละ 100 ตัวอย่าง รวมทั้งหมด 700 ตัวอย่าง จาก
แปลงปลูกพืช 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว พริก แตงโม มะเขือ คะน้า และถั่วฝักยาว นำตัวอย่างที่เก็บได้มาสกัดและ
ตรวจสอบด้วยชุดตรวจสารฆ่าแมลงตกค้าง (GT testkit®) กลุ่ม Organophosphate และ Carbamateแล้ว
นำมาวิเคราะห์ผลที่ได้โดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ร้อยละค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย
พบว่า การตกค้างของสารฆ่าแมลงในกลุ่ม Organophosphate และ Carbamateในพื้นที่ 4 จังหวัดมี
ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในจิ้งหรีดพบการปนเปื้อนหรือพบสารตกค้างมากที่สุดถึงร้อยละ 90 ของตัวอย่าง
รองลงมาคือ ตั๊กแตน (ร้อยละ 89) นอกจากนี้พบการตกค้างในผักพื้นบ้านอีสานค่อนข้างสูงเช่นกัน คือ ผักขะแยง
และย่านาง (ร้อยละ 71 และ 86 ตามลำดับ) จากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน พบว่า มีความ
กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผักพื้นบ้านอีสานและอาหารท้องถิ่นว่า มีโอกาสที่จะเข้าสู่ร่างกายจากการ
บริโภค ร้อยละ 100 และกังวลว่าจะเกิดการตกค้างในดินและน้ำโดยผ่านทางห่วงโซ่อาหาร ร้อยละ 96.67
และ ร้อยละ 97.33 ตามลำดับ ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่าผักพื้นบ้านอีสานและอาหารท้องถิ่น เริ่มจะ
ไม่ปลอดภัยกับคนอีสานในปัจจุบัน