ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความล่าช้าที่เกิดจากผู้ป่วยในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคปอด เสมหะพบเชื้อรายใหม่ จังหวัดนครราชสีมา
คำสำคัญ:
วัณโรค, ความล่าช้าบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบวิเคราะห์ภาคตัดขวาง (Cross-sectional analytical study) เพื่อ
หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความล่าช้าของผู้ป่วยในการรักษาวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อรายใหม่ในจังหวัด
นครราชสีมา โดยศึกษาในผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อรายใหม่ ในคลินิกวัณโรคปอดของโรงพยาบาล
ชุมชน จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 จำนวน 259
ราย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย และใช้แบบคัดลอกเวชระเบียนบันทึกข้อมูลการ
รักษาของผู้ป่วยวัณโรค โดยใช้เกณฑ์ของความล่าช้าในการรักษาที่เกิดจากผู้ป่วย (Patient’s delay) คือ
ระยะเวลามากกว่า 30 วันนับจากเริ่มมีอาการป่วยครั้งแรกจนเข้าพบสถานบริการสุขภาพของรัฐหรือ
โรงพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (เปอร์เซ็นต์,ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) และ
วิเคราะห์หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความล่าช้าในการรักษาด้วยสถิติถดถอยพหุโลจิสติก (Multiple
logistic regression) หาค่าความเสี่ยงสัมพันธ์ (OR)และ ORadj ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 (95% CI)
จากผลการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยวัณโรคปอดพบเชื้อรายใหม่ จำนวน 259 คน อัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิง
2.36:1 อายุเฉลี่ย 50.96 ปี (S.D.=16.64) พบความชุกของ Patient’s delay ร้อยละ 33.6 ปัจจัยที่มี
ความสัมพันธ์กับความล่าช้าในการรักษาจากปัจจัยด้านผู้ป่วย ได้แก่ การไม่เข้ารับการรักษาวัณโรคกับแพทย์ที่
โรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มแรกที่มีอาการ (ORadj = 2.30; 95% CI= 1.29-4.07) การแสวงหาการรักษานอกระบบ
บริการสาธารณสุขของรัฐตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไป (ORadj=9.21; 95% CI= 1.84-45.98) ระยะทางจากบ้านถึง
โรงพยาบาลมากกว่า 10 กิโลเมตร (ORadj=1.93; 95% CI= 1.11–3.39) ผู้ป่วยไม่รอรับบริการเมื่อมีผู้ป่วย
นอกของโรงพยาบาลจำนวนมาก (ORadj=2.05; 95% CI= 1.11–3.81)
สรุป จากผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยที่นิยมแสวงหาการรักษานอกระบบบริการสาธารณสุข
ของรัฐและอยู่ห่างไกลจะมีความล่าช้าสูง ดังนั้นจึงควรสร้างความตระหนักเรื่องวัณโรคให้กับประชาชน ผู้ป่วย
ควรได้รับความรู้เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว มีการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ป่วยวัณโรคในโรงพยาบาลของ
รัฐให้มีความสะดวกรวดเร็ว สนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและการตรวจคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคในชุมชน
ทั้งนี้เพื่อลดอัตราการตายและลดการแพร่เชื้อวัณโรคในชุมชน