ประสิทธิผลของการดูแลสตรีตั้งครรภ์ตามมาตรการการดูแลสตรีตั้งครรภ์ ที่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด โรงพยาบาลแม่จัน

Main Article Content

สุดานี บูรณเบญจเสถียร

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


ความเป็นมา


โรงพยาบาลแม่จัน มีอุบัติการณ์เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2558  ร้อยละ 3.67 แต่เมื่อพิจารณาแนวทางในการรักษาของแพทย์พบว่ามีความหลากหลายและขาดความครอบคลุมในการดูแลเนื่องจากอัตราการหมุนเวียนแพทย์ที่สูง ในปี2559ได้กำหนดมาตรการการดูแลใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา จึงต้องการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลหลังการดำเนินการ


วัตถุประสงค์


เพื่อศึกษาความชุกของปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด อัตราความถูกต้อง/ครอบคลุมในกระบวนการดูแลสตรีตั้งครรภ์ตามมาตรการและผลลัพธ์ทางคลินิกของมารดาและทารกภายหลังการใช้มาตรการ เปรียบเทียบระหว่างปี 2558 และ  ปี 2559


วิธีการศึกษา


เป็นการเชิงประสิทธิภาพ รูปแบบ correlational studyโดยรวบรวมข้อมูลสตรีตั้งครรภ์ที่เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดในปี 2558 และ 2559 ของโรงพยาบาลแม่จัน เปรียบเทียบลักษณะทั่วไป ความชุกของปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด อัตราความถูกต้อง/ครอบคลุมในกระบวนการดูแลสตรีตั้งครรภ์ตามมาตรการและผลลัพธ์ทางคลินิกการรักษา  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา  เปรียบเทียบดัชนีชี้วัดของ 2 ปี ด้วย  T-test และ exact probability test


ผลการศึกษา


ในปี2558และ2559 มีสตรีคลอดทั้งหมด 736 และ 700 ราย มีสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดร้อยละ15.76 และ 14.57 ความชุกของปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะดังกล่าวสามอันดับแรกมีความคล้ายคลึงกัน คือ การฝากครรภ์ครั้งแรกหลัง12สัปดาห์คิดเป็นร้อยละ58.62 และ 59.96  การตั้งครรภ์ครั้งแรกคิดเป็นร้อยละ43.1และ44.12 และการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ/ช่องทางคลอดคิดเป็นร้อยละ36.21และ35.29 มาตรการการดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะคลอดก่อนกำหนดที่นำมาใช้สามารถเพิ่มอัตราความครอบคลุม/ถูกต้องแผนการจำหน่ายของแผนกฝากครรภ์ อัตราความครอบคลุม/ถูกต้องการคัดกรองแผนกรอคลอด (P=0.001)  อัตราความครอบคลุม/ถูกต้องของการวินิจฉัยและการจำหน่ายของแผนกหลังคลอด  (P=0.049)  ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่สามารถเพิ่มอัตราการระงับการคลอดก่อนกำหนดสำเร็จได้  อัตราการระงับการคลอดก่อนกำหนดสำเร็จลดลงจากร้อยละ  77.63  ในปี  2558  เป็นร้อยละ  68.59  ในปี 2559  เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์มาเมื่อเข้าสู่ระยะคลอดและมีข้อห้ามการระงับคลอด


ข้อยุติ และการนำไปใช้


ควรนำมาตรการฯไปใช้และมีการประเมินผลระหว่างดำเนินการเพื่อพัฒนาให้ตรงบริบทอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง และควรประชาสัมพันธ์ให้สตรีในพื้นที่มาฝากครรภ์เร็วขึ้นเพื่อรับบริการตามมาตรฐาน

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ