รูปแบบการบริหารเครือข่ายผลิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Main Article Content

ศุภชัย นาทองไชย
วรสิทธิ์ เจริญศิลป์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


ความเป็นมา: ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตแพทย์ได้ผลักดันให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อาศัยความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายอย่างเป็นทางการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายและมุ่งสร้างภาคีเครือข่ายโรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงเพื่อขยายฐานโรงพยาบาลแหล่งฝึกให้แก่นิสิตแพทย์ชั้นคลินิก ส่งผลให้คณะแพทยศาสตร์เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลแหล่งฝึกมากที่สุดในประเทศไทย ดังนั้น การนำเสนอรูปแบบการบริหารเครือข่ายผลิตแพทย์จึงเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดสมรรถนะหลักขององค์กร รวมทั้งเติมเต็มองค์ความรู้ทางด้านการบริหารองค์กรการศึกษา


วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาการบริหารเครือข่ายผลิตแพทย์ ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารเครือข่ายผลิตแพทย์ รวมทั้งนำเสนอรูปแบบการบริหารเครือข่ายผลิตแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


วิธีการศึกษา: รูปแบบวิธีการวิจัยเป็นวิจัยเชิงคุณภาพ มีวิธีการศึกษา 4 ประการ ได้แก่ การศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มและการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลด้วยวิธีการคัดเลือกแบบลูกโซ่ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างและแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม


ผลการศึกษา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีลักษณะของการบริหารเครือข่ายผลิตแพทย์ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านยุทธศาสตร์ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และด้านการสร้างความน่าเชื่อถือ มีปัจจัยสนับสนุนการบริหารเครือข่ายผลิตแพทย์ 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านผู้นำ ปัจจัยด้านการจัดการความรู้และปัจจัยด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ในขณะที่ปัจจัยอุปสรรค ได้แก่ ปัจจัยด้านการประเมินผลการดำเนินงานของเครือข่ายและปัจจัยด้านโครงสร้างของระบบราชการ ส่วนรูปแบบการบริหารเครือข่ายผลิตแพทย์สรุปได้ 2 รูปแบบ คือ เครือข่ายที่มีแม่ข่ายเป็นผู้นำหลัก (Leadership-base network) และเครือข่าย (Inter-organizational Network)


สรุปและข้อเสนอแนะ: ภายใต้การดำเนินงานที่มีความเฉพาะเจาะจง รูปแบบการบริหารเครือข่ายผลิตแพทย์ได้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของเครือข่ายที่มีความครอบคลุมและมีความเป็นทางการ ที่สามารถนำไปเป็นข้อมูลสนับสนุนการพัฒนาองค์กรเครือข่ายต่อไปในอนาคต

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ