ผลของโปรแกรมสนับสนุนการจัดการสุขภาพตนเองต่อพฤติกรรมการจัดการสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้

ผู้แต่ง

  • นันทวัน วงษ์เงิน หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • อาทิตยา วังวนสินธุ์ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

คำสำคัญ:

การจัดการสุขภาพตนเอง ความเชื่อด้านสุขภาพ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมสนับสนุนการจัดการสุขภาพตนเองต่อพฤติกรรมการจัดการสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ระยะเวลาในการทดลอง 12 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงตามเกณฑ์จำนวน 70 คนแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ กลุ่มละ 35 คนเครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย โปรแกรมสนับสนุนการจัดการดูแลสุขภาพตนเอง คู่มือการจัดการตนเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน แบบบันทึกกิจกรรมของผู้ป่วย และแบบสอบถามพฤติกรรมการจัดการสุขภาพตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบที ผลการศึกษาพบว่าภาย หลังได้รับโปรแกรมฯ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความเชื่อด้านสุขภาพและพฤติกรรมการจัดการสุขภาพตนเองแตกต่างจากก่อนได้รับโปรแกรมฯ (p < 0.05) โดยมีค่าเฉลี่ยความเชื่อด้านสุขภาพ และพฤติกรรมการจัดการสุขภาพตนเองสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมฯ และสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ(p < 0.05) แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมและจัดกระบวนการให้ผู้ป่วยโดยใช้แนวคิดการจัดการสุขภาพตนเอง สามารถทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองในการลดภาวะเสี่ยงทางสุขภาพได้ ข้อเสนอแนะผู้ใช้โปรแกรมควรมีความรู้และทักษะในการสนับสนุนการจัดการสุขภาพตนเอง และต้องเป็นผู้นำที่คอยกระตุ้น คอยติดตาม ให้ผู้ป่วยแสดงศักยภาพของตนจนมีพฤติกรรมการจัดการสุขภาพตนเองตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-13