นวัตกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมสุขภาพของเด็กและเยาวชนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม
คำสำคัญ:
นวัตกรรม, การบริโภคอาหาร,การออกกำลังกาย, ส่งเสริมสุขภาพ, ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความรู้เกี่ยวกับภาวะน้ำหนักเกิน การประเมินอันตรายต่อสุขภาพ และการประเมินการเผชิญปัญหา ความตั้งใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการปฏิบัติตนในการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะน้ำหนักเกินระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ ก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ที่เข้าร่วมกิจกรรมในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 32 คน กลุ่มเปรียบเทียบ จำนวน 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือด้านความตรงของเนื้อหา และวิเคราะห์หาความเที่ยงภาพรวม ค่าความเที่ยงอยู่ที่ 0.803 กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายประกอบสื่อ วีดีทัศน์ การใช้ตัวแบบ ใบงาน การสนทนากลุ่ม บทบาทสมมติ และฝึกปฏิบัติ โดยสร้างการมีส่วนร่วมจากครู ผู้ปกครอง พระอาจารย์ แกนนำศาสนา และผู้วิจัย ซึ่งสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ด้วยสถิติ Paired Sample t - test และ Independent t - test ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับภาวะน้ำหนักเกิน การประเมินอันตรายต่อสุขภาพ การประเมินการเผชิญปัญหา ความตั้งใจในการป้องกันตนเองจากภาวะน้ำหนักเกิน และการปฏิบัติตนในการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายที่ถูกต้อง สูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองและสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในขณะที่กลุ่มเปรียบเทียบ ภายหลังการทดลองมีคะแนนเฉลี่ยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ยกเว้นด้านความรู้เกี่ยวกับภาวะน้ำหนักเกิน การประเมินการเผชิญปัญหา ด้านความคาดหวังในการป้องกันตนเองจากภาวะน้ำหนักเกิน ความตั้งใจในการป้องกันตนเองจากภาวะน้ำหนักเกิน การปฏิบัติตนในการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายที่ถูกต้องที่พบว่า ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)