การพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงโดยชุมชน อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง

ผู้แต่ง

  • กวินนาถ พลวัฒน์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
  • ประภาเพ็ญ สุวรรณ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
  • สุรีย์ จันทรโมลี หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

คำสำคัญ:

รูปแบบ, ผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง, ชุมชน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) วินิจฉัยปัญหา การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง (2) พัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงโดยชุมชน และทดลองใช้รูปแบบฯ ที่สร้างขึ้น (3) ประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบ ดำเนินการวิจัย 3 ระยะ คือ (1) การวินิจฉัยปัญหา และความต้องการการรูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงโดยชุมชนโดยศึกษาพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุ จำนวน 173 คน และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และผู้นำชุมชน (2) พัฒนาแผนกิจกรรมฯโดยกลุ่มภาคีเครือข่ายสุขภาพในชุมชน จำนวน 10 คนโดยประยุกต์ใช้กระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม และการนำแผนกิจกรรมฯไปทดลองใช้กับกลุ่มผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 30 คน (3) ประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบฯ โดยเปรียบเทียบข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง การปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพ ระหว่างก่อน และหลังการทดลองใช้ และประเมินความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง และสมาชิกภาคีเครือข่ายสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรโดยใช้ค่าไคสแควร์ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และ t-test พบว่าหลังการทดลองใช้ กลุ่มตัวอย่าง มีความรู้ในการดูแลสุขภาพ มีการปฏิบัติพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) และมีค่าเฉลี่ยของภาวะสุขภาพ คือ ค่าไขมันในเลือด ระดับความดันโลหิต น้ำหนัก ส่วนสูง และเส้นรอบเอว ดีขึ้นและสูงกว่าก่อนการทดลองใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) แสดงว่ารูปแบบฯที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพในการช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงจึงควรนำไปประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-04-19

ฉบับ

บท

บทความวิจัย