การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันกับพฤติกรรมป้องกันภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุ ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จังหวัดปทุมธานี
คำสำคัญ:
ผู้สูงอายุ, สมองเสื่อม, การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (descriptive research) เพื่อศึกษาการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมป้องกันภาวะสมองเสื่อม และเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมป้องกันภาวะสมองเสื่อม ตามระดับความสามารถการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จังหวัดปทุมธานี กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 50 คน ที่ผ่านเกณฑ์คัดเข้าจากประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคม จังหวัดปทุมธานี รวบรวมข้อมูลด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบทดสอบการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมป้องกันภาวะสมองเสื่อม ทดสอบความเที่ยงด้วยค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.70 และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ผลด้วยค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ความแปรแปรวนทางเดียว และวิเคราะห์เนื้อหาจากการสัมภาษณ์ ผลการวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 88 ช่วยเหลือตนเองได้อยู่ในกลุ่มติดสังคม (M = 17, SD = 2.16) ส่วนใหญ่ร้อยละ 44 มีพฤติกรรมป้องกันภาวะสมองเสื่อมอยู่ในระดับปานกลาง (M = 2.35, SD = 0.12) และกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในกลุ่มติดสังคมและกลุ่มติดบ้าน มีพฤติกรรมป้องกันภาวะสมองเสื่อม ไม่แตกต่างกัน (F = 0.53, Sig > 0.05) ผลการวิเคราะห์เนื้อหาจากการสัมภาษณ์เชิงลึก พบอุปสรรคในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง ได้แก่ (1) มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว (2) มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่ได้ กลุ่มตัวอย่างมีข้อเสนอแนะป้องกันภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ (1) ต้องการให้มีโครงการส่งเสริมสุขภาพในการออกกำลังกาย อยากให้มีนักกายภาพเข้ามาช่วยเหลือ (2) อาหารที่ได้รับจากการจัดเลี้ยงจะเหมือนกันทุกคน อยากให้มีอาหารที่เหมาะสมกับการเคี้ยว (3) อยากให้มีกิจกรรมช่วยผ่อนคลาย หรือมีครูฝึกสอน หรือจิตอาสาสอนทำกิจกรรม (4) ต้องการความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง