ประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของปลาเวียนในสภาพแวดล้อมการเลี้ยงแตกต่างกัน
คำสำคัญ:
ปลาเวียน, ประสิทธิภาพการเจริญเติบโต, กระชังไม้ไผ่, สภาพแวดล้อมการเลี้ยงบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและการใช้อาหารของปลาเวียนซึ่งมีสภาพแวดล้อมการเลี้ยงต่างกัน จำนวน 4 ชนิด คือ กระชังไม้ไผ่ กระชังอวน กระชังมุ้งไนล่อนสีฟ้า และคอกไม้ไผ่ เลี้ยงในบ่อพักน้ำ ขนาด 3 ไร่ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน โดยไม่มีการควบคุมปัจจัยแวดล้อมภายนอก ตลอดระยะเวลาการทดลองต่อเนื่องนาน 90 วัน (มีนาคม ถึง พฤษภาคม 2560) เริ่มทดลองใช้ปลาเวียน ขนาดน้ำหนักเฉลี่ยเริ่มต้น ประมาณ 70 กรัม ความยาวเฉลี่ยเริ่มต้น ประมาณ 17 เซนติเมตร ในกระชังขนาด 9 ลูกบาศก์เมตร ในอัตราการปล่อยปลาที่ความหนาแน่น 10 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร ให้ปลากินอาหารจนอิ่ม 2 ครั้งต่อวัน วัดการเจริญ เติบโตทุก ๆ 30 วัน ตลอดการทดลอง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ชนิดของกระชังเลี้ยงมีผลต่อค่าประสิทธิภาพการเจริญเติบโต ได้แก่ ค่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ค่าอัตราการเจริญ- เติบโตต่อวัน และค่าอัตราการเจริญเติบโต แต่ไม่มีอิทธิพล (P > 0.05) ต่ออัตรารอดตายของปลาเวียนทั้ง 4 กลุ่มทดลอง โดยค่าประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของปลาเวียนพบสูงสุด (P > 0.05) ในปลาทดลองกลุ่มที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทดลองที่ 2, 3 และ 4 ตามลำดับ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมการเลี้ยงยังมีผลต่อค่าประสิทธิภาพการใช้อาหารของปลาเวียน (อัตราแลกเนื้อ) ซึ่งพบสูงสุด (P > 0.05) ในปลาทดลองกลุ่มที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทดลองที่ 2, 3 และ 4 ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำในแต่ละสภาพแวดล้อมการเลี้ยงพบว่า ค่าคุณภาพน้ำที่ตรวจวัดทุกพารามิเตอร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดังนั้นผลการศึกษาข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า สภาพแวดล้อมการเลี้ยงซึ่งสร้างจากไม้ไผ่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาเวียน เมื่อพิจารณาผลทางด้านประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ