ประสิทธิผลโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อความรู้การจัดการเบาหวานด้วยตนเอง และระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จังหวัดสุโขทัย
คำสำคัญ:
โรคเบาหวานชนิดที่ 2, กลุ่มเสี่ยง, ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อความรู้และระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จังหวัดสุโขทัย ที่พัฒนามาจากทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม กลุ่มตัวอย่างคือกลุ่มเสี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 200 คน จำแนกเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ กลุ่มละ 100 คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีเชิงระบบ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามความรู้ที่ผ่านการทดสอบความเที่ยงด้วยสูตรคูเดอร์-ริชาร์ดสัน (KR-20) ที่มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.82 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Independent Sample T-Test และ Paired Sample T-Test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ผลการศึกษาพบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อนและพฤติกรรมการดูแลตนเองดีกว่าก่อนการทดลอง ( p-value <0.001) ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบมีความรู้ก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกัน (p-value = 0.112 ) สำหรับค่าระดับน้ำตาลในเลือดพบว่าหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงกว่าก่อนการทดลอง (p-value < 0.001) ในขณะที่กลุ่มเปรียบเทียบมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกัน (p-value = 0.421) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม หลังการทดลองพบว่ากลุ่มทดลองมีความรู้เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ (p-value < 0.001 ) และมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงดีกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ (p-value < 0.001) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่พัฒนามาจากทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้ มีประสิทธิผลสำหรับการศึกษาครั้งนี้ เนื่องจากทำให้กลุ่มเสี่ยงที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้เพิ่มขึ้น และสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ